บ้านเลขที่ 108/3 หมู่ 13 ตำบลหัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ช่วงเย็นของทุกวัน สองสามีภรรยาข้าราชการครู สามีชื่อ นายวันชัย แจ่มนาม ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดพิษณุโลก ส่วนภรรยานางวลัยพร แจ่มนาม ตำแหน่งอาจารย์ 3 ระดับชำนาญการพิเศษ โรงเรียนพุทธชินราชพิทยา
ข่าวแนะนำ
ทั้งสองช่วยกันดูแล รดน้ำ พรวนดิน สวนพืชบริเวณดาดฟ้าของบ้าน เป็นผักปลอดสารพิษทั้งหมด ใช้สำหรับนำไปทำอาหารรับประทานในครอบครัว
นายวันชัย กล่าวว่า
"บ้านเราอยู่ในเมืองครับ แล้วก็มีพื้นที่ไม่มากนัก เนื่องจากว่าเป็นบ้าน 2 ชั้น มีดาดฟ้าที่เป็นลาน ด้านบนที่จอดรถข้างบน ปกติเราไม่ได้ใช้ทำอะไรอยู่แล้ว มานั่งนึกว่าทำยังไงเราจะใช้พื้นที่ให้มันเกิดประโยชน์ ก็เลยคิดว่าถ้างั้นเรามาทำผักสวนครัวบนดาดฟ้าของโรงรถดีกว่า"
หนึ่ง ได้ประโยชน์.. เอามาทานเป็นอาหารได้ แล้วก็พื้นที่เราก็ไม่เสียเปล่าไป บ้านเราแดดร้อนมาก พอมาปลูกผักแล้วเนี่ยช่วยทำให้บ้านเราเย็นไปด้วย
สอง เป็นเรื่องของเราสองคน ที่เป็นครูนะครับ เวลาว่างของเราคือตอนเย็นเท่านั้น เช้ากับเย็นเป็นเวลาที่เราจะอยู่ด้วยกัน การปลูกผักสวนครัวจึงเป็นการทำกิจกรรมร่วมกันที่บ้าน เราก็เลยอยากจะทำ
"แล้วประเด็นสำคัญ เราทานอาหารตอนเย็น ซึ่งเราไม่อยากออกไปตลาด..
ช่วงนี้ก็อย่างที่ทราบ การแพร่ระบาดของโรคมันเยอะ แล้วเราก็รู้สึกว่าถ้างั้นเรามาปลูกผักกันเอง เรามีผักหลากหลายเลย ต้นหอม ผักชี คะน้า ผักอะไรที่ต้องไปซื้อที่ตลาด เราพยายามที่จะไม่ซื้อเลย เรามาดูว่ามีอะไรบ้างที่เราต้องไปซื้อเราก็เอามาปลูกเอาไว้บนดาดฟ้า แต่ว่าจริงๆ แล้วเรามีข้างล่างด้วยนะครับ มีพืชอื่นอีกหลายรายการที่เราปลูก สรุปง่ายๆ ก็คือเราพยายามที่จะปลูกพืชให้หลากหลาย แล้วก็ให้พอกิน ปลูกแล้วก็เอาไปแจก เอาไปฝาก"
อีกอย่าง เวลาเราเพาะเมล็ดพันธุ์ มันจะเยอะมาก แต่มันก็จะเหลือกล้าเราปลูกไม่หมด เพราะถ้าเราปลูกพืชชนิดเดียวเดี๋ยวมันจะเต็มพื้นที่ เพราะฉะนั้น กล้าผักที่เหลือเราก็แจกตั้งแต่กล้า ฝากให้เพื่อนๆ ที่สำนักงานบ้าง พอโตมันเยอะก็แบ่งข้างบ้านบ้านนู้น บ้านนี้ เป็นการสร้างสัมพันธไมตรี
"คนในเมืองนะครับ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้พูดได้คุยกัน เวลาที่เราอยู่บ้านใกล้เรือนเคียง ผักก็เป็นตัวประสานสามัคคีกับคนข้างบ้าน..
ที่สำคัญ เราเป็นครูทั้งสองคน ภรรยาเป็นครูสอนสังคม เราคิดกันว่าถ้าเราสอนคนอื่น นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสอนเด็กนักเรียน แล้วเราไม่เอามาปฏิบัติ ก็น่าจะไม่เหมาะสม"
เราอยากทำให้เห็นว่า เราสอนเด็กด้วย แล้วเราก็เอามาปฏิบัติเองด้วย
บริเวณดาดฟ้าของบ้าน อาจารย์ทั้งสอง จึงมีผักนานาชนิด อาทิ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก คะน้า โหระพา มะเขือเทศ ต้นหอม ผักชี ผักบุ้ง สะระแหน่ ฯลฯ
แม้พื้นที่ปลูกมีน้อย แต่ก็นำผักลงปลูกในกระถางพลาสติก หรือถุงพลาสติกบ้าง ใช้เป็นภาชนะในการปลูก
นับเป็นแบบอย่างที่ดี โดยเฉพาะข้าราชการ ยังสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือน มีเหลือก็แจกเพื่อนบ้าน
ใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง พอมี พอกิน พอใช้ สร้างความสุขจากสิ่งที่มี เป็นชีวิตวิถีใหม่ "นิวนอร์มอล" ที่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งตั้งแต่วันนี้
เพราะเราไม่รู้ว่า "ไวรัสตัวร้าย" จะอยู่กับเราไปนานแค่ไหน จะมีตัวที่ "ร้ายกว่า" มาอีกหรือไม่ รู้แต่ว่าเราต้องสู้ และเราต้องชนะ
ยุทธ์ ไกรโชค : เรื่องและภาพ
ชลิต จิตต์ณรงค์ : เรียบเรียง
https://ift.tt/3hZPyWQ
บ้าน
Bagikan Berita Ini
0 Response to "มีความสุขอยู่กับบ้าน สองครู "ปลูกผักบนดาดฟ้า" วิถีใหม่สู้ไวรัส - ไทยรัฐ"
Post a Comment