Search

อีสานบ้านย่าโม - กิเลน ประลองเชิง - ไทยรัฐ

ข่าวแนะนำ

(ปกิณกคดีประวัติศาสตร์ไทย เล่ม 2 กรมศิลปากร พ.ศ.2554 เรื่องการอพยพแรงงานอีสานในสมัยรัชกาลที่ 5 ไอยคุปต์ ธนบัตร เรียบเรียง)

อ่านจบ จิตใจที่แห้งแล้งกับเหตุการณ์บ้านเมืองตอนนี้ ก็แช่มชื่นขึ้นมา ไม่เชื่อก็ลองอ่านกันดู

ได้ไปเที่ยวตามหมู่บ้านราษฎรตามทางที่ผ่านมาหลายแห่ง บางแห่งเป็นบ้านใหญ่ตั้งมาช้านานหลายชั่วคน ลองไต่ถามถึงประเพณีการสมาคม ตามที่พวกชาวบ้านชี้แจง ได้ความประหลาดน่าพิศวงอย่างหนึ่ง

คือชาวบ้านเหล่านี้ครัวหนึ่งก็มีบ้านอยู่แห่งหนึ่ง มีเหย้าเรือนพอกันอยู่ และมียุ้งข้าวเก็บไว้พอกินปีหนึ่ง

ในลานบ้านปลูกพริกมะเขือข่าตะไคร้สำหรับต้มแกง นอกบ้านมีสวนผลไม้เช่นกล้วย อ้อย หมาก มะพร้าว และมีที่ปลูกต้นหม่อนสำหรับเลี้ยงไหม ต่อเขตสวนออกไปถึงทุ่งนา

ต่างก็มีเนื้อนาและโคกระบือพอทำได้ข้าวกินทุกครัวเรือน

ถึงฤดูทำนาก็ช่วยกันทำนาทั้งชายหญิงเด็กผู้ใหญ่ สิ้นฤดูนาผู้ชายไปเที่ยวหาของขาย ผู้หญิงอยู่บ้านเลี้ยงไหม และทอผ้าทำเครื่องนุ่งห่ม

เศษอาหารที่เหลือบริโภคใช้เลี้ยงไก่และสุกรไว้ขาย การกินอยู่ของชาวบ้านแถวนี้ทำได้เองเกือบไม่ต้องซื้อหาสิ่งอันใด สิ่งที่ต้องซื้อก็คือเครื่องมือเหล็ก เช่น จอบเสียม มีดพร้า เป็นต้น และเครื่องถ้วยชาม

บางทีก็ซื้อด้ายทอผ้าหรือผ้าผืน และของอื่นๆที่ชอบใจ ซึ่งพ่อค้าหาไปขาย

เงินทองที่จะใช้ซื้อหาก็มีพอเพียง เพราะมีโคกระบือที่ออกลูกเหลือใช้ และมีหมูและไก่ที่เลี้ยงไว้ด้วยเศษอาหารเหลือบริโภคขายได้เงินซื้อของที่ต้องการปรารถนา

ต่างครัวต่างอยู่เป็นอิสระแก่กัน ไม่มีใครเป็นบ่าว ไม่มีใครเป็นนายใคร

ลูกบ้านอยู่ในปกครองของผู้ที่เป็นหัวหน้าครัวของตน แล้วก็มีผู้ใหญ่บ้านและกำนันต่อขึ้นไป ดูการปกครองกันง่ายดาย

แต่ว่าทั้งตำบลนั้นจะหาเศรษฐีที่มั่งมีเงินแต่ 200 บาทขึ้นไปไม่มีเลย

คนยากจนถึงต้องเป็นบ่าวผู้อื่น ก็ไม่มีเลยสักคนเดียว

คงอยู่กันมาเช่นนี้ นับร้อยปีแล้ว เพราะเหตุว่าพวกชาวบ้านทำไร่นาหาเลี้ยงตัวได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงิน ความรู้สึกต้องการตัวเงินไม่รุนแรง

เงินก็ไม่มีอำนาจเหมือนในเมืองที่ว่าเป็นศิวิไลซ์ จึงไม่ใคร่สะสม

แต่ว่าจะยากจนก็ไม่ได้ เพราะเลี้ยงตัวได้โดยผาสุก ไม่อัตคัด

สังคม เศรษฐกิจ และการปกครองท้องถิ่น...ของชาวอีสานแบบนี้ล่ะครับ...ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเรียกว่าระบบเศรษฐกิจพอเพียง

เป็นระบบชีวิตที่มีอยู่จริงมานาน และทรงอยากให้มีอยู่ต่อไป

บ้านเมืองที่พัฒนา ผู้คนมีเงินทองใช้สอยไม่ขัดสน แบบที่เรียกกันว่าศิวิไลซ์นั้น บางครั้งก็ไม่ใช่บ้านเมืองที่อยู่ดีมีสุขเสมอไป โลกทั้งโลกตอนนี้ ค่อยๆตั้งสติพิจารณา ผมว่าบ้านเมืองที่ศิวิไลซ์น้อย

โควิด-19 มันก็เข้าไปน้อย ความทุกข์ก็น้อย

ว่ากันโดยเฉพาะเรื่องเงิน เงินนี่แหละ ต้นตอตัวทุกข์สำคัญ ใครมีมากถือว่าทุกข์หนักทีเดียว.

กิเลน ประลองเชิง

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( อีสานบ้านย่าโม - กิเลน ประลองเชิง - ไทยรัฐ )
https://ift.tt/2SwKrVL
บ้าน

Bagikan Berita Ini

0 Response to "อีสานบ้านย่าโม - กิเลน ประลองเชิง - ไทยรัฐ"

Post a Comment

Powered by Blogger.