สธ.ปรับขบวนใหม่ ให้ผู้มีผลตรวจ ATK เป็นบวก เข้าระบบกักตัวที่บ้านทันที ไม่ต้อง ตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR เว้นต้องไป รพ.สนามศูนย์พักคอย หวังแก้ปัญหาเข้าถึงการรักษาช้า พร้อมเล็งปรับฮอสพิเทลให้รับผู้ป่วยสีเหลืองได้ เปลี่ยนแนวทางฉีดวัคซีนศูนย์กลางบางซื่อ วอล์กอินถึงสิ้นเดือนนี้ จากนั้นรับเฉพาะคนที่ลงทะเบียนผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เท่านั้น ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ถึงไทย 30 ก.ค.นี้ มั่นใจ บุคลากรด่านหน้าได้ฉีดเป็นเข็ม 3 แน่ ขณะเดียวกัน ลือสะพัด “นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์” ที่ปรึกษา “อนุทิน” ติดเชื้อโควิด-19 ส่งให้ผู้เข้าร่วมประชุม ศบค.สธ.ตั้งแต่ปลัดยันคณะที่ปรึกษา ศบค.สธ.โดนกักตัวอื้อ
สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของไทยยังวิกฤติ ไม่เฉพาะใน กทม.และปริมณฑล ที่มีปัญหาเตียงรองรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ แต่ขณะนี้ยังลามไปหลายจังหวัดเมื่อเจอผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งเกินร้อยรายต่อวัน

ยอดติดเชื้อ-ตายไม่ยุบ
เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,150 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 13,866 คน มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 10,407 คน มาจากการค้นหาเชิงรุก 3,459 คน มาจากเรือนจำและที่ต้องขัง 245 คน มาจากต่างประเทศ 39 คน ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 526,828 คน หายป่วยเพิ่มเติม 9,168 คน หายป่วยสะสม 350,643 คน อยู่ระหว่างรักษา 171,921 คน อาการหนัก 4,284 คน ใช้เครื่องช่วยหายใจ 954 คน มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 118 คน เป็นชาย 64 คน หญิง 54 คน โดยมากสุดอยู่ใน กทม. 40 คน รองลงมานนทบุรี 20 คน นอกจากนี้ มีรายงานผู้เสียชีวิตที่บ้าน 1 คน เสียชีวิตที่ห้องฉุกเฉิน 1 คน ที่ กทม. เสียชีวิตใน LQ 1 คน ที่ จ.นนทบุรี เสียชีวิตระหว่างกักตัว 1 คน ที่ จ.นครราชสีมา พบเชื้อหลังเสียชีวิต 1 คน ที่ จ.ปทุมธานี ทำให้ปัจจุบันมียอดผู้เสียชีวิตสะสม 4,264 คน ส่วนข้อมูลการฉีดวัคซีนวันที่ 26 ก.ค. มีจำนวน 138,892 โดส ทำให้มียอดฉีดวัคซีนสะสม 16,099,670 โดส
คลัสเตอร์ใหม่มาอีกเพียบ
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 27 ก.ค. ได้แก่ กทม. 2,635 คน สมุทรสาคร 1,092 คน ชลบุรี 884 คน สมุทรปราการ 719 คน นนทบุรี 536 คน ฉะเชิงเทรา 486 คน ระยอง 314 คน ปทุมธานี 301 คน อุบลราชธานี 289 คน สระแก้ว 279 คน พบคลัสเตอร์ใหม่ 5 แห่ง แคมป์ก่อสร้าง อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี พบผู้ติดเชื้อ 17 คน บริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา 22 คน แคมป์ก่อสร้าง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง 44 คน แคมป์ก่อสร้าง อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 107 คน ตลาดศรีเมืองทอง อ.เมือง จ.ขอนแก่น 15 คน
พนง.ชวเลขสภาฯติดโควิดเพิ่ม
ส่วนที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงภาพรวมข้าราชการสภาฯติดเชื้อโควิด-19 ว่า ในเดือน ก.ค. พบทั้งสิ้น 12 คน โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ กำชับให้ดูแลข้าราชการที่ป่วยโควิด-19 รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงสัมผัส ไม่ว่าจะเสี่ยงสูงหรือเสี่ยงต่ำต้องได้รับการดูแลทุกคน ส่วนกรณีที่เมื่อวันที่ 26 ก.ค. มีข่าวว่านายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พปชร.เข้าช่วยเหลือข้าราชการหญิงของสำนักรายงานการประชุมและชวเลขของสภาฯเพื่อหาเตียงเข้ารับการรักษานั้น ข้อเท็จจริงสภาฯอยู่ระหว่างประสานงานและช่วยเหลือโดยไม่ทอดทิ้ง

ผล ATK บวก กักตัวที่บ้านได้
ต่อมาที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิต (ATK) หลังทราบผลเป็นบวกว่าจะเรียกว่าผู้ที่น่าจะติดเชื้อโควิด-19 สามารถเข้าสู่ระบบการกักตัวที่บ้านได้ทันที ไม่ต้องตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR แต่ในกรณีที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ ต้องเข้ากักตัวในชุมชนหรือศูนย์พักคอย รวมทั้งฮอสพิเทล และโรงพยาบาล จะต้องตรวจด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้ง เพราะเราไม่นำผู้ที่ไม่แน่ใจว่าติดเชื้อไปรวมกับผู้ติดเชื้อ โดยศูนย์พักคอยจะแยกพื้นที่สำหรับผู้มีผล ATK บวกและรอผลตรวจ RT-PCR กับผู้ป่วยเดิมที่อยู่ที่ศูนย์พักคอย และจะมีการยกระดับศูนย์พักคอยให้สามารถตรวจ RT-PCR ได้ทุกแห่ง ให้ทราบผลภายใน 1 ชั่วโมง ส่วนการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ องค์การเภสัชกรรมแจ้งว่ามียาในสต๊อก 10 ล้านเม็ด เดือนหน้าจะนำเข้าทุกสัปดาห์ รวมแล้วมียา 40 ล้านเม็ด จะปรับการเบิกจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้รวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ กรมการแพทย์มีแนวทางการให้ยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้กักตัวที่บ้านคือ หากไม่มีอาการ ไม่มีโรคร่วมจะยังไม่ให้ แต่ถ้าเริ่มมีอาการ ไม่มีโรคร่วมจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ทันที แต่ถ้ามีโรคร่วม ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ที่ติดตามอาการ
เล็งให้ฮอสพิเทลรับกลุ่มสีเหลือง
นพ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า ขอความร่วมมือทุกคน ช่วยกันดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคเพื่อลด จำนวนผู้ติดเชื้อให้ได้ ขณะนี้สถิติการระบาดโดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑลเกินกำลังที่ระบบสาธารณสุขหรือเตียงจะรองรับได้ 3 เท่า เตียงล้นจริงๆหลายแห่ง ติดลบ แต่ทุกฝ่ายยืนยันว่าจะดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุด ทั้งนี้ เมื่อมีการทำระบบกักตัวที่บ้าน ทำให้มีเตียงกลุ่มสีเขียวในฮอสพิเทลว่าง จะปรับฮอสพิเทลมารองรับ ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองที่ต้องการออกซิเจน โดยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีประมาณ 2 หมื่นห้อง หากปรับมารับ ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง ร้อยละ 10 จะมีเตียงรับผู้ป่วยสีเหลือง เพิ่มได้ 2,000 เตียง แต่ขณะนี้ติดปัญหาถังออกซิเจน มีไม่พอ เพราะมีข่าวลักลอบนำออกทางชายแดนเมียนมา
กักตัวที่บ้าน 3.7 หมื่นคน
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การตรวจด้วยชุดตรวจ ATK ที่หน่วย คัดกรองเชิงรุกทั้งของ กทม. และ สปสช. หากได้ผลเป็นบวก จะมีการนำรายชื่อเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลการกักตัวที่บ้านและจับคู่ผู้ป่วยกับคลินิกชุมชนอบอุ่น หรือศูนย์บริหารสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร ที่ใกล้บ้านให้เข้าไปดูแล โดยขณะนี้มีผู้ป่วยที่กักตัวที่บ้าน อยู่ในระบบแล้ว 37,000 คน สามารถจับคู่กับสถานพยาบาล 35,511 คน รอเข้าระบบ 3,092 คน

คาดไฟเซอร์ถึงไทย 30 ก.ค.
วันเดียวกัน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ที่จะได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกา ว่า เครื่องบินขนส่ง วัคซีนจะออกเดินทางจากสหรัฐอเมริกาในวันที่ 29 ก.ค. คาดว่าจะถึงไทยในวันถัดไป เบื้องต้นมีการตรวจสอบ คุณภาพของวัคซีนลอตดังกล่าวมาแล้ว เมื่อมาถึงสามารถ ตรวจสอบเอกสารต่างๆให้ครบถ้วนและรีบนำเข้าคลัง ที่มีอุณหภูมิตามกำหนดมาตรฐาน จากนั้นพิจารณาการกระจายไปแต่ละจังหวัด ส่วนกรณีที่ขณะนี้หลายจังหวัดเลื่อนนัดผู้ฉีดวัคซีน ต้องสอบถามไปใน แต่ละจังหวัด ยืนยันว่าเรามีวัคซีนฉีดตามแผนเดือนละ 10 ล้านโดส ส่วนในการจัดการแต่ละพื้นที่ต้องให้ทาง พื้นที่ขยับอีกทีหนึ่ง ยืนยันว่ากรมควบคุมโรคส่งวัคซีนไปในแต่ละจังหวัดทุกสัปดาห์ตามที่กำหนด
มั่นใจคุมคุณภาพไฟเซอร์ได้
ด้าน นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนไฟเซอร์ กล่าวถึงการเก็บ และขนส่งวัคซีนไฟเซอร์ในประเทศไทย 1.5 ล้านโดส ว่าจากการประชุมเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา รายงานเรื่องการเก็บวัคซีนที่ทางบริษัทแจ้งมา คือการขนส่งวัคซีนในตู้คอนเทนเนอร์มานั้น จะอยู่ในอุณหภูมิ -60 องศาฯ ถึง -90 องศาฯ จะเก็บได้ค่อนข้างนาน เมื่อมาถึงประเทศไทยผ่านการตรวจสอบต่างๆ แล้วจะขนส่งกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยควบคุมอุณหภูมิที่ -25 ถึง -15 องศาฯ เก็บได้ 2 สัปดาห์ เมื่อถึงพื้นที่แล้วสามารถเก็บในตู้เย็นปกติที่ความเย็น 2-8 องศาฯ สามารถเก็บวัคซีนไฟเซอร์ได้ 30 วัน และเมื่อดูดออกมาใส่เข็มฉีดยาแล้วจะเก็บได้ 6 ชั่วโมง ดังนั้นสามารถใช้ตู้เย็นปกติในการเก็บได้ รวมถึงกรณีวัคซีนไฟเซอร์ที่สั่งซื้ออีก 20 ล้านโดส ใช้ระบบเดียวกัน ไม่ต้องปรับปรุงระบบใหม่ ไม่ต้องกังวลเรื่อง คุณภาพของวัคซีน
ย้ำเป็นเข็ม 3 บุคลากรด่านหน้า
ส่วนกรณีความกังวลว่าจะมีการนำวัคซีนไฟเซอร์ ไปให้กับกลุ่มวีไอพี นพ.สุระยืนยันว่า บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าต้องได้รับวัคซีนบูสเตอร์โดสหรือกระตุ้มภูมิเข็ม 3 แน่นอน ทั้งไฟเซอร์ และแอสตราเซเนกา ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ และจะประชุมร่วมกัน วันที่ 29 ก.ค.อีกครั้ง เพื่อกระจายวัคซีน ขณะนี้มีบุคลากร สาธารณสุขส่วนหนึ่งฉีดบูสเตอร์โดสด้วยแอสตราฯ ไปแล้ว ยืนยันว่าบุคลากรแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าจะได้รับทุกคน ได้กันวัคซีนให้ในกลุ่มนี้อย่าง เพียงพอ เหลือจากกลุ่มนี้จะพิจารณากระจายให้ 13 จังหวัด ที่เป็นพื้นที่ระบาดในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีภาวะอ้วน และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง
บิ๊กหมอ สธ.โดนกักตัวอื้อ
นอกจากนี้ มีรายงานข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่าสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ได้ลามเข้ามาถึงผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข โดยมีรายงานว่า นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อสัปดาห์ที่แล้วและได้เข้าร่วมประชุมศูนย์บริหารงานโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับคณะที่ปรึกษาและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขบางส่วน โดยระหว่างการประชุม นพ.ม.ล.สมชายมีอาการไอ จึงได้ให้ทีมแพทย์ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR พบว่าผลเป็นบวก จากนั้นจึงส่งตัวเข้ารับการรักษาใน รพ.ทันที ทั้งนี้ หลังจากทราบผลว่า นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ ติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการป่วยต้องเข้ารับการรักษาใน รพ.เป็นผลให้คณะผู้บริหารที่เข้าร่วมประชุมกับ นพ.ม.ล.สมชาย ทั้งหมดต้องกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน รวมถึง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.อุดม คชินทร นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา และ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร คณะที่ปรึกษา ศบค. สธ.ด้วย ทั้งนี้ นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อายุ 75 ปี ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาแล้ว 2 เข็ม แต่ยังมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 โดยการติดครั้งนี้ คาดว่าติดจากพยาบาลที่มาดูแลที่บ้าน

ส่ง 135 ผู้ป่วยขึ้นรถไฟกลับบ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อช่วงเที่ยงที่สถานีรถไฟรังสิต จ.ปทุมธานี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข และคณะผู้บริหารทั้งสองกระทรวง ร่วมส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 135 คน เดินทางกลับภูมิลำเนา 7 จังหวัดได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี โดยทั้งหมดเป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย (สีเขียว) มีผลตรวจ RT-PCR หรือจากชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิต (ATK) มีความประสงค์กลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา และมีการประสานงานระหว่าง สปสช.และจังหวัดปลายทางแล้ว ซึ่งทั้งหมดออกเดินทางด้วยขบวนรถไฟเที่ยวพิเศษ ต้นทางสถานีรถไฟรังสิต ออกเดินทางเวลา 12.30 น. เป็นขบวนแรก ปลายทางอุบลราชธานี โดยมีทีมบุคลากรแพทย์ พยาบาล นักปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ประสานงาน ดูแลผู้ป่วยตลอดการเดินทาง เมื่อถึงปลายทางแต่ละจังหวัด จะมีทีมสาธารณสุขในพื้นที่รับส่งต่อเพื่อนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษา พร้อมทำความสะอาดตู้โดยสารเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ
พร้อมสนับสนุนรถไฟ-รถบัส
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า หากมีผู้ป่วยหรือหน่วยงานอื่นๆประสานงานมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อให้สนับสนุนรถไฟ หรือรถของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ทางคมนาคมพร้อมที่จะสนับสนุน แต่ขณะนี้ยังไม่มีกลุ่มจังหวัดอื่นๆประสานงานมา ขณะที่ นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงศ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท.ร่วมให้ข้อมูลขบวนรถไฟเที่ยวพิเศษนี้ว่าเป็นรถไฟ CNR จำนวน 115 ตู้ เป็นรถไฟใหม่ของ รฟท.มีระบบปรับอากาศห้องน้ำสุญญากาศ มีระบบบำบัดเหมือนเครื่องบิน สามารถจัดบริการเป็นระบบปิดได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ ปกติรถไฟ 1 ตู้ จะมี 70 ที่นั่ง แต่ในการส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะจัดที่นั่งในสัดส่วนครึ่งหนึ่งตามมาตรการสาธารณสุขแยกผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ตรวจยืนยัน แบบ RT-PCR และตรวจเชื้อจากชุดทดสอบ ATK ออกจากกัน แยกตู้สำหรับเจ้าหน้าที่ ทีมแพทย์ และผู้เกี่ยวข้อง มีตู้เสบียง มีอาหารบริการอยู่บนขบวนรถ และในขบวนรถจะมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย พร้อมทั้งมีแผนรองรับกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถนำตัวผู้ป่วยส่งเข้าสู่การรักษาได้อย่างรวดเร็ว
ปัดยุบศูนย์ฉีดสถานีกลางบางซื่อ
ขณะที่นายอนุทินกล่าวถึงกรณีมีข่าวจะปิดบริการศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อว่ายังไม่มีการยุบ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. จะเปิดให้บริการฉีดวัคซีนในประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปและ 7 กลุ่มโรคเรื้อรังที่ลงทะเบียนเท่านั้น เฉลี่ยวันละ 20,000 คน ส่วนที่เรียกร้องให้เปิดเผยการฉีดวัคซีนแบบเรียลไทม์ หากเป็นไปตามกฎหมายคนที่จะเปิดเผยได้คืออธิบดีกรมควบคุมโรค จะทำได้หรือไม่ ส่วนตัวหากเป็นไปตามกฎหมายสามารถทำได้หมด
วอล์กอินมาฉีดถึงสิ้น ก.ค.นี้
ด้าน พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรค ผิวหนัง ในฐานะ ผอ.ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ กล่าวว่า สถานีกลางบางซื่อจะเปิดเดินรถไฟสายสีแดงในวันที่ 2 ส.ค. จึงได้รับอนุญาตให้ใช้จนถึง 31 ก.ค.นี้ ศูนย์ฉีดวัคซีนจะคืนพื้นที่ประตู 1 แต่ยังสามารถใช้พื้นที่ประตู 2, 3 และ 4 ในการฉีดวัคซีนได้เหมือนเดิม แต่มีการปรับแผนให้เหมาะสม โดยการฉีดเข็มที่ 1 แบบวอล์กอิน ใน 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 2.หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ และ 3.กลุ่มน้ำหนักตัวตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไป ให้บริการเหมือนเดิมจนถึงสิ้นเดือน ก.ค.นี้ จากนั้นจะเป็นการเปิดลงทะเบียน 100 เปอร์เซ็นต์สำหรับประชาชนทั่วไป อายุตั้งแต่ 18 ปี จนถึงทุกกลุ่มอายุ โดยจองคิวผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเท่านั้น เปิดจองวันที่ 29 ก.ค. เวลา 09.00 น. และฉีดช่วงวันที่ 1-31 ส.ค.
จ่อปรับตู้นอนรถไฟรับผู้ป่วยเขียว
อีกด้านหนึ่ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยหลังสำรวจโรงซ่อมบำรุงรถไฟ สถานีกลางบางซื่อ เพื่อใช้เป็นศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อว่าตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มอบหมายให้ รฟท.ร่วมกับ กทม. จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อแห่งใหม่ รองรับผู้ป่วยโควิดเคสเขียวที่ยังไม่มีอาการในพื้นที่ กทม. เบื้องต้นจะใช้รถไฟตู้นอน 15 โบกี้ โบกี้ละ 16 เตียง รองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 240 เตียง จำเป็นต้องปรับสภาพภายในโบกี้ให้มีความเหมาะสม อาทิ เดิมเป็นเตียงนอน 2 ชั้น ปรับให้เหลือชั้นเดียว ติดมุ้งลวดบริเวณหน้าต่าง ติดตั้งระบบน้ำและไฟ พร้อมจัดสร้างห้องน้ำห้องสุขาภายนอกโบกี้เพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย กทม.จะขอความอนุเคราะห์กระทรวงมหาดไทย ยกเว้นการจัดเก็บค่าไฟและค่าน้ำ เพื่อแบ่งเบาภาระ รฟท.คาดว่าจะสามารถเปิดรับผู้ป่วยได้ภายในวันที่ 30 ก.ค.นี้ ส่วนภาพรวมการฉีดวัคซีน ขณะนี้ฉีดแล้วกว่าร้อยละ 60 ของประชากร กทม.ทั้งหมด คาดว่าจะฉีดได้ครบร้อยละ 70 ตามเป้าหมายที่กำหนดในเร็วๆนี้ จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่ประชาชน
เร่งค้นหาเด็กติดโควิดตกค้าง
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ถึงกรณีพบเด็กติดโควิดจากครอบครัวหรือสูญเสียผู้ปกครองจากการติดเชื้อโควิดเพิ่มมากขึ้นว่า ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบเด็กติดโควิดจำนวนมากเป็นหลักหมื่นคน สัดส่วนที่พบมากยังอยู่ใน กทม.และปริมณฑล ปัญหาที่พบเด็กหลายคนที่ครอบครัวพ่อแม่ติดโควิดและถูกนำส่งตัวไปรักษาตามระบบสาธารณสุข เด็กเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ทำให้ต้องถูกกักตัวขณะที่ไม่มีผู้ใหญ่คอยดูแล ส่วนหนึ่งได้ประสานสำนักอนามัย และกระทรวงสาธารณสุขในการนำเด็กเข้าไปแยกกักในฮอสพิเทล หากเป็นเด็กเล็กถ้ามีพี่ยังให้พี่ช่วยดูแลน้องในฮอสพิเทล แต่หากมีแต่เด็กเล็กก็ประสานให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือเอ็นจีโอช่วยดูแล อย่างไรก็ตาม กรมได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) รวมทั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 เร่งค้นหาเพื่อไม่ให้เด็กและเยาวชนติดโควิดและตกค้างอยู่ในบ้านหรือชุมชน
ใช้ไทยรัฐวิทยารองรับผู้ป่วย
วันเดียวกัน นายวิเชน โพชนุกูล เลขาธิการมูลนิธิไทยรัฐ เปิดเผยว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานอนุญาตให้ใช้อาคารสถานที่ในสถานศึกษาในสังกัดเป็นโรงพยาบาลสนามได้ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่พักรอและโรงพยาบาลสนาม 3 แห่งคือ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๕๐ (บ้านคำพี้) จ.นครพนม ได้รับเลือกให้เป็นศูนย์ LQ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๖๑ (บ้านห้วยยะอุ) จ.ตาก อยู่ระหว่างรอหนังสือขอใช้พื้นที่และรายละเอียดอย่างเป็นทางการ รวมถึงการทำประชาคมจากชุมชน และโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๗๕ เฉลิมพระเกียรติ เขตสายไหม กทม. จะใช้สถานที่เป็นศูนย์พักคอย สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีเชื้อแล้ว (ผู้ป่วยขาลง) แต่รอดูอาการประมาณ 4 วันแทนที่จะรอดูอาการที่ รพ.ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประเมินความพร้อม

ใช้ ATK รุกตรวจเชื้อต่อเนื่อง
ส่วนการเดินหน้าตรวจหาเชื้อเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK จากโครงการ “ปฏิบัติการไทยรัฐ ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ตรวจหาเชื้อ” โดยไทยรัฐกรุ๊ปและพันธมิตรภาคเอกชน เมื่อเช้าวันที่ 27 ก.ค. ยังมีการรุกตรวจต่อเนื่องเป็นวันที่สอง โดย พญ.ดลจรัส ทิพย์มโนสิงห์ ผอ.ศูนย์บริการสาธารณสุข 60 ดอนเมือง สำนักอนามัย กทม. ร่วมบูรณาการกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันป้องกันควบคุมโรคติดต่อในเขตเมือง (สปคม.) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานเขตดอนเมือง กรมทหารสื่อสาร และบริษัท แอทยีนส์ จำกัด จัดหน่วยปฏิบัติการป้องกันและไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุกในชุมชน หรือ CCRT จำนวน 3 ชุด ลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ดอนเมือง รวมทั้งให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันให้กับผู้สูงอายุผู้ป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ ในกรมทหารสื่อสาร ดอนเมือง และชุมชนในพื้นที่ อาทิ ชุมชนหมู่บ้านปิ่นเจริญ 3 ชุมชนหมู่บ้านบูรพา 12 และชุมชนหมู่บ้านวังไพเวช ถนนสรงประภา กว่า 500 คน และคนเข้ารับการตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจแรพิดเทสต์ประมาณ 200 คน เบื้องต้นพบมีผลตรวจเป็นบวก 12 คน
หมอไม่ทนยื่นหนังสือทูตสหรัฐฯ
ที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม. ช่วงสายวันเดียวกัน นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร ตัวแทนเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมตัวแทน Nurses Connect ภาคีบุคลากรสาธารณสุข และหมอไม่ทน ยื่นหนังสือเปิดผนึกจากเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ถึงอุปทูต ไมเคิล ฮีธ รักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กรณีกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์มีความกังวลต่อวัคซีน Pfizer 1.54 ล้านโดส ที่ทางการสหรัฐฯ บริจาคให้บุคลากรทางการแพทย์ของไทย และหาแนวทางผลักดันให้เกิดความโปร่งใส ให้วัคซีนดังกล่าวถึงบุคลากรด่านหน้า และประชาชนกลุ่มเสี่ยงอย่างแท้จริง

ย้าย รพ.บุษราคัมไปสุวรรณภูมิ
ต่อมาผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อช่วงบ่าย ที่ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม ผอ.ศบค.เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของสถานีกลางบางซื่อและ รพ.บุษราคัม ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย โดยนายกฯ ให้ศูนย์บางซื่อฯ ปรับแนวทางและเปิดดำเนินการตามเดิมต่อไป และเน้นมาตรการเว้นระยะห่าง ประสานความร่วมมือกับทางกระทรวงกลาโหม จากนั้นนายกฯ ประชุมร่วมกับนพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดสาธารณสุข และ ผอ.รพ.บุษราคัม ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยนายกฯกล่าวว่า อยากลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจการทำงานของทุกหน่วย แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข โดย ผอ.รายงานการดำเนินการ รพ.บุษราคัม และที่ประชุมได้หารือสัญญาเช่าพื้นที่เมืองทองธานี ที่สิ้นสุดเดือน ต.ค. เตรียมย้ายไปที่สนามบินสุวรรณภูมิ อาคาร AOT จะเริ่มย้ายในช่วงกลางเดือน ต.ค.รองรับผู้ป่วยสีเหลือง มีเตียงที่ให้ออกซิเจนสำหรับผู้ป่วยสีแดงถึง 3,000 เตียง เดิมที่เมืองทองมีเพียง 800 เตียง นอกจากนี้จะปรับเพิ่มเบี้ยบำรุงให้กับบุคลากรสาธารณสุขด้วย
เร่งผุด รพ.สนามรับผู้ป่วยคืนถิ่น
ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ในส่วนภูมิภาค ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น โดยมาจาก กทม.และปริมณฑล ที่เดินทางกลับไปรักษาตัวในภูมิลำเนาเป็นจำนวนมากขึ้น โดย สสจ.อุตรดิตถ์ รายงานพบผู้ป่วยโควิดเพิ่มอีก 100 คน เป็นผู้มาจากพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด และมีการเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มอีก 4 แห่งประกอบด้วย รพ.สนามแห่งที่ 3 สนามกีฬาจังหวัดอุตรดิตถ์ (หมอนไม้) อ.เมือง รพ.สนามแห่งที่ 4 สนง.ขนส่งจังหวัดอุตรดิตถ์ (เก่า) อ.ลับแล รพ.สนามแห่งที่ 5 วัดขวางชัยภูมิ อ.พิชัย และ รพ.สนามแห่งที่ 6 หอประชุมโรงเรียนไกรลาสวิทยาคม อ.น้ำปาด ส่วน อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ประกาศปิดที่ว่าการอำเภอชั่วคราว จนถึงวันที่ 1 ส.ค.2564 เมื่อพบเจ้าหน้าที่ติดเชื้อ 1 คน
ผงะแม่ค้าตระเวนขายของบ่อนไก่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อดึกวันที่ 26 ก.ค. สสจ.ชุมพร รายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 42 คน พร้อมเผยแพร่ไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อ แต่มีที่น่าสังเกตคือไทม์ไลน์ผู้ป่วยรายที่ 671 เป็นหญิง อายุ 27 ปี อาชีพค้าขาย อยู่ อ.ละแม ก่อนตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 ตระเวนขายของตามบ่อนไก่ใน อ.ท่าแซะ อ.ละแม และ อ.สวี ทั้งที่ส่วนกลางมีคำสั่งให้ปิดบ่อนไก่ทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นแหล่งแพร่เชื้อโควิด-19 แต่ยังมีบ่อนไก่เปิดเล่นอยู่ใน 3 อำเภอของ จ.ชุมพร จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนในพื้นที่อย่างมาก ที่หน่วยงานเกี่ยวข้องปล่อยให้มีบ่อนไก่เปิดเล่นในหลายอำเภอของจังหวัด

ชุมชนรอบ รง.ไก่ติดเชื้อ 138 คน
สำหรับความคืบหน้าการตรวจเชิงรุก ชุมชนโดยรอบบริษัท โกลเด้นไลน์บิสซิเนส จำกัด (ในเครือสหฟาร์ม) หมู่ที่ 4 บ้านลำตะคล้อ ต.กันจุ อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ ที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนกว่า 3 พันคน โดยนายสมพงษ์ ทองหนูนุ้ย นายอำเภอบึงสามพัน เปิดเผยหลังนำ จนท.ตรวจดูความเรียบร้อยการปูพรมตรวจหาเชื้อโควิด-19 บริเวณชุมชนรอบนอกโรงงาน ทั้ง 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ที่ 2 บ้านเขาเกตุ หมู่ที่ 4 บ้านลำตะคร้อ หมู่ที่ 15 บ้านลำตระคร้อเหนือ และหมู่ที่ 18 บ้านแคมป์พัฒนา รวมชาวบ้านที่เข้าตรวจ 1,495 คน พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 138 คน เป็นคนไทย 100 คน และชาวเมียนมา 38 คน ไม่ใช่คนงานของโรงงาน แต่เป็นญาติและครอบครัวของคนงานที่พักอาศัยอยู่ด้านนอกโรงงาน
อีสานนับวันยิ่งอ่วม
ส่วนสถานการณ์ใน จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ยังพบผู้ติดเชื้อถึง 234 คน ในจำนวนนี้ มี 74 คน มาจากพื้นที่เสี่ยง เสียชีวิตอีก 2 ศพ เป็นชายวัย 69 ปี มีโรคประจำตัวมะเร็งปอด และหญิง อายุ 61 ปี ส่วนการจองซื้อวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” อบจ.นครราชสีมา ได้รับจัดสรรมาจำนวน 58,000 โดส เพื่อฉีดให้กับคนในพื้นที่ 29,000 คน เช่นเดียวกับ จ.บุรีรัมย์ รายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ ทำสถิติสูงที่สุด ตั้งแต่มีการระบาดมาของจังหวัดคือ 216 คน มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 คน ใน อ.ลำปลายมาศ และ อ.นางรอง ขณะที่ จ.ขอนแก่น พบคลัสเตอร์ตลาดศรีเมือง ริมถนนมิตรภาพ สี่แยกเจริญศรี เขตเทศบาลนครขอนแก่น พบผู้ติดเชื้อแล้ว 60 คน ทางเทศบาลสั่งปิดพื้นที่เป็นบางส่วนยังไม่ปิดทั้งตลาด และให้พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดภายในตลาด รวมถึงให้เข้มงวดตามมาตรการรักษาความปลอดภัยด้านสาธารณสุขไปก่อน ส่วน จ.อุบลราชธานี เจอติดเชื้อนิวไฮที่ 313 คน และมีอีก 46 คน ที่เดินทางมากับขบวนรถไปเที่ยวพิเศษจากกรุงเทพฯ ตามโครงการคนอุบลไม่ทิ้งกัน ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนมารอรับที่สถานีรถไฟ อ.วารินชำราบ
รับ 2 ด.ญ.-เพื่อนบ้านเข้า รพ.
ส่วนความคืบหน้ากรณี 2 เด็กหญิงนั่งเฝ้าศพมารดาที่เสียชีวิตหลังติดเชื้อโควิด-19 ในห้องเช่าย่านบางพลี จ.สมุทรปราการ เพียงลำพัง โดยแม่เด็กสั่งเสียไว้ว่าหากเสียชีวิตให้ลูกทั้งสองไปอยู่บ้านเด็กกำพร้าและภายหลังตรวจพบเด็กทั้งสองติดเชื้อด้วยเช่นกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ก.ค. เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและหน่วยงานเกี่ยวข้องได้เข้าไปดูแลเด็กทั้งสองในเบื้องต้น โดยจะส่งตัวไปที่ รพ.บางพลี เพื่อตรวจหาเชื้อโควิดซ้ำอีกครั้ง พร้อมเพื่อนข้างห้องอีก 2 คน ที่คอยช่วยเหลือครอบครัวของเด็กหญิงทั้งสอง ซึ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ขณะที่ นส.สุภชา พรหมศร หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวสมุทรปราการ กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือน้องทั้งสองแล้ว เบื้องต้น พม.จังหวัดสมุทรปราการ ส่งตัวไปตรวจหาเชื้อโควิดและเข้าสู่กระบวนการรักษาหรือกักตัวของรัฐ หลังจากนั้นจะเข้าไปรับตัวน้องทั้งสองเข้าสู่กระบวนการของ พม. ต้องตามหาญาติที่แท้จริง แต่หากไม่มีญาติ พม.มีความพร้อมที่จะดูแลน้องทั้งสอง นอกจากนี้ ยังได้รับการติดต่อจากตัวแทน นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ประธานหอการค้าสมุทรปราการ แจ้งความประสงค์ว่าจะรับน้องทั้งสองไปอุปการะดูแล ส่วนสภาพจิตใจของเด็กตอนนี้เข้มแข็งมากขึ้น มีกำลังใจมากขึ้น หลังจากที่น้องรักษาตัวเสร็จแล้ว พม.จะพาไปเปิดบัญชีเป็นชื่อน้องทั้งสอง เพื่อให้โอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีของน้องโดยตรง ในส่วนของ พม.ยืนยันว่าจะไม่ทอดทิ้งน้องทั้งสองแน่นอน
พื้นที่สีแดงติดเชื้อไม่ลด
ขณะที่สถานการณ์ในจังหวัดสีแดงเข้ม หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ในวันที่ 27 ก.ค.ยังพบผู้ติดเชื้อในรอบ 24 ชม. ไม่ลดลง ไม่ว่าจะเป็น จ.ปัตตานี ที่พบเพิ่มอีก 163 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกถึง 7 ศพ มีผู้ป่วยอาการหนักกว่า 169 คน ที่รักษาตัวที่ รพ.ปัตตานี ส่วน จ.ยะลา ติดเชื้อเพิ่มอีก 132 คน ขณะที่ จ.นครปฐม ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 476 คน ทุบสถิติของจังหวัดนับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ อำเภอที่พบสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อ.นครชัยศรี 147 คน อ.บางเลน 71 คน อ.สามพราน 61 คน เสียชีวิต 9 ศพ เช่นเดียวกับ จ.ชลบุรี ติดเชื้อรายใหม่ทะยานไปที่ 884 คน เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 คน และ จ.สมุทรสาคร ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะลุพันคนต่อเนื่องเป็นวันที่ห้า อยู่ที่ 1,094 คน และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร มีมติเห็นชอบให้ประชาชนทั่วไปที่ใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ที่มี อย.รับรอง สามารถนำผลตรวจนี้ยืนยันต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและฝ่ายปกครองในพื้นที่เพื่อเข้ารับการกักตัวศูนย์ CI-Community Isolation ที่พื้นที่ๆพักอาศัยอยู่ได้ทันที ส่วนผู้ที่ทำงานในสถานประกอบการนั้น ต้องเข้ากักตัวในสถานประกอบการ (FAI) ไม่จำเป็นต้องไปตรวจยืนยันผลที่โรงพยาบาลอีก เพื่อลดความแออัด อีกทั้งยังเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวอีกด้วย

คนตราดแห่ฉีดซิโนแวค
ส่วนที่ศาลาประชาคมข้างศาลากลาง จ.ตราด ซึ่งใช้เป็นสถานที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป้าหมายเป็นประชาชนทั่วไป โดยวัคซีนที่นำมาฉีดในครั้งนี้เป็นวัคซีน Sinovac ที่ได้รับการจัดสรรเพิ่มเติมจากกระทรวงสาธารณสุข อีก 1,400 โดส ซึ่งบรรยากาศตลอดช่วงเช้า มีประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ จำนวนมากมารอฉีดวัคซีนนับพันคน ทำให้ต้องรอคิวยาวและทะลักออกมาจากเต็นท์ที่ทำไว้รองรับ บางส่วนเดินทางมาแล้วรอคิวไม่ไหวก็เดินทางกลับ และต่อมาได้เกิดฝนตกโปรยปรายลงมา ทำให้ประชาชนและผู้สูงอายุหลายคนที่ไม่ได้เตรียมร่มมาต้องยืนตากฝน และเมื่อฝนหยุดตก คนที่หลบฝนก็วิ่งกลับมาต่อคิวทำให้เกิดการสับสนชุลมุน และเกิดปัญหาการเว้นระยะห่าง ขณะที่ภาพรวมโควิด-19 ของจังหวัด พบผู้ติดเชื้อใหม่ 41 คน อยู่ระหว่างการรักษา 411 คน
ติดเชื้อวันเดียวกว่า 4.4 แสน
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในต่างแดน ยอดติดเชื้อสะสมทั่วโลกอยู่ที่ 195,400,542 คน เสียชีวิตรวม 4,183,452 คน เป็นการติดเชื้อในวันเดียว 447,912 คน เสียชีวิตในวันเดียว 7,421 คน โดยที่รัฐวิกตอเรียของออสเตรเลียประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์มีผลวันที่ 28 ก.ค. หลังจากมีรายงานผู้ติดเชื้อเพียง 10 คน ประชาชนได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้านได้อย่างอิสระ โรงเรียนเปิดทำการ อย่างไรก็ตาม แต่ละครัวเรือนจะไม่ได้รับอนุญาตให้มีผู้มาเยี่ยมเยือน ขณะที่รัฐนิวเซาท์เวลส์มีแนวโน้มอาจขยายระยะเวลาล็อกดาวน์ออกไป หลังจากมีผู้ป่วยรายใหม่รายวันพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 16 เดือน จำนวน 172 คน ในจำนวนนี้ 169 คน เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และจำนวนนี้ 46 คน อาการหนัก จึงมีการคาดการณ์ว่าน่าจะขยายมาตรการล็อกดาวน์ รัฐบาลออสเตรเลียเรียกร้องให้ประชาชนทั่วไปมารับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา หลังจากมีคนหนุ่มสาวติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก แม้ว่าก่อนหน้านี้จะแนะนำให้ผู้อายุเกิน 60 ปีเท่านั้น ที่ควรฉีดวัคซีนของแอสตราฯ รวมถึงมีความพยายามอย่างหนักในการเจรจาซื้อวัคซีนของไฟเซอร์มาเพิ่ม
https://ift.tt/3kYcI3w
บ้าน
Bagikan Berita Ini
0 Response to "สธ.แก้เตียงล้น ATK บวก ให้กักตัวในบ้าน ทีมหมอ ศบค.ป่วน-มีป่วยโควิดติดใหม่ 14,150 ราย - ไทยรัฐ"
Post a Comment