Search

'เอไอเอส-ทรู' ชิงเบอร์1 ลุยเทคโอเวอร์ ควบรวมคู่แข่งเดิม สร้างแต้มต่อธุรกิจ - กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวใหญ่สะเทือนแวดวงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยที่เอฟเฟคแรงไปถึงเศรษฐกิจโดยรวม และภาพใหญ่การปรับตัวของ “บิ๊กคอร์ป” นอกจาก ดีลแสนล้านทรูควบดีแทคแล้ว หนีไม่พ้นการเข้าซื้อหุ้น “3บีบี” (จัสมินฯ) ของพี่ใหญ่ในวงมือถืออย่าง "เอไอเอส" (กัลฟ์) ที่สร้างเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย โดยอ้อนขอ กสทช.ไฟเขียวให้ดีลผ่าน เพื่อจบธุรกรรมทั้งหมดให้ได้ในไตรมาส 1 ปี 66

ดีลเทคโอเวอร์มูลค่ากว่า 3.2 หมื่นล้านครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังดีลใหญ่เมื่อปลายปี 2564 เมื่อเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ บรรลุข้อตกลงความร่วมมืออย่างเท่าเทียมเพื่อให้บริษัทลูกของตัวเองคือ “ทรูและดีแทค” เข้าควบรวมธุรกิจ ซึ่งมีแผนจะรวมธุรกิจอย่างสมบูรณ์ภายในสิ้นปี 2565 นี้

'เอไอเอส-ทรู’ ชิงเบอร์1 ลุยเทคโอเวอร์ ควบรวมคู่แข่งเดิม สร้างแต้มต่อธุรกิจ

'เอไอเอส' ไม่ถอย เปิดเกมใหญ่ ยึดบัลลังก์ ‘ผู้นำ’

บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส  หรือเอไอเอส ครองเบอร์ 1 ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ วันนี้ เอไอเอส ยังคงเป็นผู้นำตลาด "ดิจิทัล ไลฟ์ เซอร์วิส โพรวายเดอร์" อันดับ 1 ที่มีคลื่นความถี่ในการให้บริการมากที่สุดรวม 1420 เมกะเฮิรตซ์ ตัวเลขล่าสุดสิ้นไตรมาส 1/2565 มีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือรวมที่ 44.6 ล้านเลขหมาย สำหรับ 5จี เอไอเอสให้บริการครบทั้ง 77 จังหวัด มีความครอบคลุมที่ 78% ของจำนวนประชากร มีจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 2.8 ล้านราย

ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ภายใต้แบรนด์ เอไอเอส ไฟเบอร์ ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจที่สามารถสร้างการเติบโตเหนือตลาดได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้เติบโต 27% เทียบกับปีก่อน มีจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น 93,100 ราย ปัจจุบันมีลูกค้ารวม 1,865,100 ราย ตั้งเป้ามีฐานลูกค้า 2.2 ล้านรายในปีนี้ หลังเอไอเอสเข้าซื้อหุ้น ในบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3บีบี จำนวน 7,529,242,385 หุ้น คิดเป็น สัดส่วน 99.87% จากบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด บริษัทย่อยของ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล

การเข้าซื้อดังกล่าว คิดเป็นมูลค่ารวม 19,500 ล้านบาท นอกจากนี้ เอไอเอสยังเข้าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจัสมิน (JASIF) จำนวน 1,520,000,000 หน่วย คิดเป็น 19.00% ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้ง หมดของ JASIF ในราคาหน่วยละ 8.5 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 12,920 ล้านบาท รวมเรียกทั้งสองธุรกรรมว่า ธุรกรรมซื้อหุ้นและซื้อหน่วยลงทุนมีมูลค่ารวม 32,420 ล้านบาท

หากรวมบริษัทกันแล้ว จะทำให้เอไอเอส ไฟเบอร์มีลูกค้าบรอดแบนด์ที่ได้จาก 3บีบี ที่ปัจจุบันมีลูกค้าอยู่ 2.42 ล้านราย รวมกับเอไอเอส ไฟเบอร์ จะมีลูกค้าเพิ่มเป็น 4.28 ล้านราย และยังสินทรัพย์ภายใต้กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน JASIF เป็นเส้นใยแก้วนำแสงจำนวน 1.68 ล้านคอร์กิโลเมตร

ขั้นตอนต่อจากนี้ จะเป็นส่วนในการขออนุญาตในการเข้าทำธุรกรรมจากคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก่อนจึงจะลงนามในสัญญาซื้อ ขายหุ้น และหน่วยลงทุนโดยบริษัท คาดว่า ธุรกรรมซื้อหุ้นและซื้อหน่วยลงทุนจะเสร็จสมบูรณ์ในไตรมาส 1 ของปี 2566

ซื้อ3บีบีขยายฐานลูกค้าสู่ตจว.

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า การลงทุนขยายธุรกิจในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญตามเป้าหมายกลยุทธ์ของบริษัท เพื่อขยายการเติบโตในธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน และมุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ ทำให้บริษัทมีขีดความสามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านสายไฟเบอร์ ที่ครอบคลุมลูกค้าที่กว้างขวางมากขึ้น สามารถขยายการลงทุนไปยังพื้นที่ใหม่เพื่อให้คนไทยสามารถได้รับบริการอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดและรอบนอกตัวเมือง

รวมถึงช่วยให้ลูกค้าได้รับประโยชน์จากบริการที่รวดเร็วและมีคุณภาพที่ดี อีกทั้งช่วยให้การพัฒนาโครงข่ายไฟเบอร์ในประเทศไทยโดยรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดทอนความซ้ำซ้อนของการลากสายไฟเบอร์โดยไม่จำเป็นซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

โดยรวมแล้วการลงทุนนี้จะส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มของธุรกิจและผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว นอกจากนี้ การที่บริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและได้เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลักและผู้เช่าของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน จะส่งเสริมให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนที่มั่นคงขึ้น รวมถึงจะมีการปรับเงื่อนไขให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว พร้อมทั้งสร้างโอกาสแก่กองทุนในการลงทุนทรัพย์สินโทรคมนาคมของบริษัทฯ เพิ่มเติมในอนาคต

ทั้งนี้ จากจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุดกว่า 44.6 ล้านเลขหมาย ณ มีนาคม 2565 เอไอเอสได้ประกาศตัวพร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยี 5จี ที่ครบ 77 จังหวัดแล้วเป็นรายแรกผ่าน 3 สายธุรกิจ ได้แก่ โทรศัพท์เคลื่อนที่, อินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูงภายใต้แบรนด์ เอไอเอส ไฟเบอร์ และบริการดิจิทัล 5 ด้าน ได้แก่ วิดีโอ คลาวด์ ดิจิทัลเพย์เมนท์ อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (ไอโอที) และบริการร่วมกับพาร์ทเนอร์ตลอดจนขยายสู่กลุ่มธุรกิจใหม่ อาทิ ดิจิทัลเพย์เมนต์ อีสปอรต์ และธุรกิจประกันภัย โดยทั้งหมดนี้เพื่อสนับสนุนความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศขยายขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม

บิ๊กสเต็ปแรกก้าวสู่ "โลกการเงิน"

ก่อนที่ เอไอเอส จะขยับแรง โดยการเข้าซื้อหุ้น 3บีบี ก่อนหน้านี้ เอไอเอส ประกาศความร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ (เอสซีบี) จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ‘เอไอเอสซีบี (AISCB)’ ทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท เพื่อให้บริการสินเชื่อผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม หรือ Digital Lending เพื่อสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินที่สะดวกมากยิ่งขึ้นหวังสร้างแหล่งรายได้ใหม่ในอนาคต โดยทั้งสองบริษัทจะถือหุ้นในสัดส่วน 50:50

ความร่วมมือที่เกิดขึ้น เป็นการข้ามสายพันธุ์ธุรกิจ หรือ “ครอส บิสซิเนส” จาก กลุ่มการเงิน-กลุ่มโมบาย โอเปอเรเตอร์ เอไอเอส มองเห็นโอกาส 3 ส่วน คือ 1.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมจากจุดแข็งของทั้งสอง 2 ฝ่าย

2. ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการด้านการเงินให้แก่คนไทย โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤติจากโควิด ทำให้รูปแบบการประกอบอาชีพของคนไทยเปลี่ยนไป การมีบริการลักษณะนี้ ช่วยให้คนไทยมีทางเลือก ไม่ต้องหันไปหาแหล่งเงินกู้นอกระบบ

3. เป็นการต่อยอดรูปแบบบริการของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น เป็นการสร้างการเติบโตทางธุรกิจของทั้ง 2 ฝ่ายอย่างยั่งยืน

นายสมชัย กล่าวว่า หลังอยู่ร่วมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาเกือบสองปี บทเรียนในวิกฤติที่ผ่านมา ทำให้เชื่อว่า ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด คือ การเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รอบตัว ในวันนี้ เทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ได้อยู่ไกลตัวเราอีกต่อไป อยู่ที่ว่าใครจะปรับใช้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร สำหรับเอไอเอสวันนี้ มีทั้งครอส บิสซิเนส และการเติบโตในกลุ่มธุรกิจใหม่เหมือนที่พูดไว้ข้างต้น ซึ่งล้วนมีความท้าทายและสร้างโอกาสอย่างมหาศาล

ทุ่มเงินลงทุนไปกว่าล้านล้านบ.

ซีอีโอ เอไอเอส เคยประกาศย้ำจุดยืนในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 32 ยืนยันว่า จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ทุกภาคส่วน เสริมความแข็งแกร่ง และยกระดับการใช้ชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เอไอเอส ได้ใช้งบประมาณเพื่อร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมประเทศไปแล้ว กว่าล้านล้านบาท แบ่งเป็นส่งมอบเงินให้ประเทศ 523,000 ล้านบาท และลงทุนเครือข่ายและใบอนุญาตกว่า 481,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ภายใต้บริบทของโลกใหม่ ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปรับตัวเพื่อให้มีความพร้อมก็เป็นสิ่งที่เอไอเอส เตรียมการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การประกาศเคลื่อนตัวจากเทเลคอม โอเปอเรเตอร์ สู่ ดิจิทัล ไลฟ์ เซอร์วิส โพร วายเดอร์เมื่อ 6 ปีก่อน

และล่าสุดยกระดับสู่ ค็อกนิทิฟ เทลโค่ (Cognitive Telco) ที่นอกจากจะมุ่งมั่นกับ 3 เป้าหมายหลัก คือ 1.เพิ่มประสิทธิภาพ สร้างประโยชน์ให้แก่ลูกค้าอย่างสูงสุดเสมอจากธุรกิจไร้สายปัจจุบัน 2. ต่อยอดกลไกแห่งการเติบโตผ่านธุรกิจเน็ตบ้าน และบริการลูกค้าองค์กร และ 3.ลงทุนในธุรกิจดิจิทัลเพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต

ทรูพลิกภาพใหม่สู่ เทค คอมพานี

“นายศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ย้ำมุมมองของการของการก้าวไปข้างหน้าของบริษัทโทรคมนาคมของไทยมาตลอดว่า การก้าวสู่บริษัทเทคโนโลยี คือ กุญแจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาแบบก้าวกระโดด และสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กระจายไปทั่วประเทศได้

และในฐานะบริษัทไทย ก็มีความมุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยปลดล็อกศักยภาพที่มีอยู่อย่างมหาศาลของธุรกิจไทยและผู้ประกอบการดิจิทัลไทย รวมทั้งยังจะสามารถดึงดูดคนที่เก่งที่สุดและธุรกิจล้ำสมัยจากทั่วโลกให้มาทำธุรกิจในประเทศไทยได้อีกด้วย

“การปรับโครงสร้างสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่จะก้าวเป็นฮับของเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค โดย โทรคมนาคม (Telecom) จะยังคงเป็นธุรกิจหนึ่งของโครงสร้าง และจะต้องพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติมในส่วนที่มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงปัญญาประดิษฐ์ ระบบคลาวด์เทคโนโลยี ไอโอที อุปกรณ์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัลมีเดียโซลูชั่น และปรับโครงสร้างเพื่อให้สนับสนุนการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี (Tech Startup) พร้อมแผนที่จะศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจซึ่งถือว่าเป็นการเปิดกว้างกรอบความคิดในการทำนวัตกรรมใหม่เพิ่มเติม”

เป็นแนวคิดที่ “ศุภชัย” ได้ถ่ายทอดไว้เมื่อครั้งการเอ็มโอยูกับกลุ่มบริษัทเทเลนอร์ บริษัทแม่ของ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลสำหรับการเผยแพร่นักลงทุน ทรู ระบุว่า ดีลทรูควบดีแทค มีจุดมุ่งหมายในการปรับโครงสร้างทางธุรกิจเพื่อก้าวไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายของตลาดระดับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพิ่มขีดความสามารถในการลงทุนในโครงข่ายยุคใหม่

ตลอดจนก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการหลัก (Key Player) ในการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศไทยโดยการส่งเสริมการสร้างสรรค์ระบบนิเวศทางธุรกิจและเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุน ธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทย การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของประเทศไทยจะขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล ปัจจัยที่สำคัญซึ่งส่งผลต่อความรวดเร็วและความส าเร็จในการปรับเปลี่ยนดังกล่าวขึ้นอยู่กับการริเริ่มจาก ภาคเอกชนซึ่งมีความสามารถในการระดมเงินทุนเพื่อน าไปลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพทางด้านดิจิทัลที่มีศักยภาพและ ความสามารถในการแข่งขันกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มชั้นนำรายใหญ่ระหว่างประเทศ เช่น Line Meta Google และ Tencent เป็นต้น

ดีลทรูควบดีแทค อุปสรรคเพียบ

ระหว่างทางของ ดีลทรูควบดีแทคที่ยังดำเนินต่อไป ยังคงเจอวิบากกรรม ขวากหนาม การไม่เห็นด้วยของเครือข่ายผู้บริโภค รวมถึงนักวิชาการบางกลุ่ม ที่มองว่า มีความสุ่มเสี่ยงในข้อกฎหมาย อาจนำไปสู่การผูดขาดตลาดอย่างมโหฬารของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในอนาคต การลงมาตรวจสอบอย่างเข้มข้นของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. อย่างเข้มข้น ทำให้ดีลนี้ยังไม่ถึงปลายทางได้ง่ายๆ

หากยุทธศาสตร์ของ “กลุ่มทรู” ในวันที่ดีลแห่งความหวังยังไม่จบ การเดินหน้าต่อเพื่อรักษาฐานลูกค้า และเก็บคะแนนความไว้วางใจของลูกค้า เพื่อสร้างแต้มต่อให้บริษัท ยังคงดำเนินต่อไป

กลุ่มทรู เพิ่งรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาสแรกของปี 2565 มีรายได้รวม 35,138 ล้านบาท และรายได้จากการให้บริการ 25,903 ล้านบาท การแพร่ระบาดของโควิด-19 และความกังวลจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงค่าเงินเฟ้อ กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บริโภคในไตรมาส 1 ปี 2565 ความพยายามของกลุ่มทรูในการปรับโครงสร้างต้นทุนและบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพส่งผลให้ค่าใช้จ่ายลดลงอย่างต่อเนื่อง

ทำให้มีกำไรจากดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 14,074 ล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2564 โดยมีอัตรากำไร EBITDA ต่อรายได้จากการให้บริการที่ 54% ในไตรมาส 1 ปี 2565

กลยุทธ์ทรูเจาะลูกค้าทุกเจน-ลุย 5จี

ที่ผ่านมา ทรู ใช้ยุทธศาสตร์ เพิ่มประสบการณ์การใช้งานให้ลูกค้าด้วยการดูแลลูกค้าแบบเชิงรุก ดึงศักยภาพด้านการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่า และ สร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้านำเสนอสินค้า และบริการแบบเฉพาะเจาะจง (personalization) ให้ตรงใจทุก เจนเนอเรชั่นมากที่สุด ด้วยช่องทางที่ครอบคลุมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และบริการสินเชื่อทางการเงินในการซื้อสินค้า

พร้อมทั้งบุกเบิก พัฒนาเทคโนโลยีในเจนใหม่ทั้ง ปัญญาประดิษฐ์ บิ๊กดาต้า บล็อกเชน คลาวด์ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) และหุ่นยนต์ รวมถึงขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อรังสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ด้วยเชื่อมั่นว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นศักยภาพที่สำคัญต่อการเติบโตแบบก้าวกระโดดในยุคดิจิทัล

ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ทรูมูฟ เอช มีรายได้จากการให้บริการ 19,676 ล้านบาท มีฐานผู้ใช้บริการ 5จี เติบโตสูงเป็น 2.6 ล้านราย จากการเร่งพัฒนาโครงข่าย 5จี และการเพิ่มประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า บนคอนเทนต์ 5จี เสมือนจริงในรูปแบบ XR/VR ผ่านแพ็กเกจ True 5G Xclusive และ การให้บริการสินเชื่อทางการเงินผ่านบริการ “True Pay Next” ที่ผนึกกำลังกับ Ascend Nano

ที่สำคัญ ทรู ได้ขยายระบบ นิเวศ 5จี ไปในอุตสาหกรรมพลังงานด้วยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท บี.กริมเพาเวอร์จำกัด (มหาชน) (“BGRIM”) ในการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจพลังงาน ที่จะนำไปสู่การสร้างอาคารอัจฉริยะ (Smart Building) ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) และเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในอนาคต

ไตรมาสแรกของปี ทรูมูฟ เอช มีฐานผู้ใช้บริการรวม 32.6 ล้านรายแบ่งเป็นผู้ใช้บริการแบบรายเดือน 11.2 ล้านรายและผู้ใช้บริการแบบเติมเงิน 21.4 ล้านราย

เร่งสปีด “ทรู บรอดแบนด์” หนีคู่แข่ง

ขณะที่ ทรูออนไลน์ เป็นอีกธุรกิจ “ทำเงิน” ของกลุ่ม ปัจจุบันยังครองผู้นำตลาด มีจำนวนผู้ใช้บริการบรอดแบนด์เพิ่ม 90,100 รายในไตรมาส 1 ปี 2565 ขยายฐานผู้ใช้บริการรวม เป็นทั้งสิ้น 4.7 ล้านราย รายได้จากการให้บริการบรอดแบนด์อยู่ที่ 7,318 ล้านบาท การแข่งขันที่ยังคงสูงในตลาด ทำให้ทรูลุยให้ "ส่วนลด" เพื่อดึงดูดลูกค้า ขณะเดียวกัน ให้ความสำคัญการเพิ่มประสิทธิภาพของ โครงข่ายและการให้บริการด้วยข้อเสนอแบบคอนเวอร์เจนซ์เพื่อตอบรับต่อความต้องการในการใช้อินเทอร์เน็ตบ้านที่เพิ่มสูงขึ้น

ในระยะหลัง กลุ่มทรู จะเน้นนำเสนอนวัตกรรม สินค้าพร้อมข้อเสนอที่ให้กับลูกค้าโดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนบ้านให้เป็นบ้านอัจฉริยะ ผสานไอโอทีดีไวซ์ และคอนเทนต์ความบันเทิง หนุนการเติบโตและรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน (ARPH) ที่สูงขึ้นให้กับทรูออนไลน์ได้

คอนเทนท์ สตรีมมิ่งหลากหลาย

ขณะที่ ทรูดิจิทัล กรุ๊ป ยังสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มและบริการดิจิทัลในกลุ่มทรูได้อย่างต่อเนื่อง โดยแพลตฟอร์มสื่อ ดิจิทัล ทรูไอดี ที่มีความหลากหลายคอนเทนต์บันเทิง กีฬา และซีรีส์ ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ทรูไอดี มีรายได้เติบโต 86%  เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนผู้ใช้งานรายเดือนกว่า 30 ล้านราย มียอดรับชมคอนเทนต์วีดิโอต่อเดือนโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นเป็น 459 ล้านครั้ง และจำนวนการซื้อคอนเทนต์ ด้านความบันเทิงเพิ่มสูงขึ้น 75% เป็น 760,000 ครั้ง เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีก่อน

ขณะที่ มีลูกค้ากล่องทรูไอดี ทีวี เติบโตต่อเนื่องเป็น 3.2 ล้านกล่องหรือเติบโต 34% จากความต้องการรับชมทีวีผ่านกล่อง OTT ที่สูงขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันทรูไอดีสำหรับผู้ใช้งานในต่างประเทศจำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย เมียนมา ฟิ ลิปปินส์ และเวียดนาม สำหรับธุรกิจดิจิทัลโซลูชันมีรายได้ที่เติบโตสูง 73% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีก่อนหน้าจากนวัตกรรมบ้านอัจฉริยะ (Smart Living) การเชื่อมต่ออัจฉริยะ (Connectivity) และตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine)

รวมถึงการขยายธุรกิจ Digital Guest Solution ด้วย 3 บริการคิวอาร์โค้ดอัจฉริยะ แก่ลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมการให้บริการ นอกจากนี้ ธุรกิจดิจิทัล เฮลท์ ได้เปลี่ยนชื่อและปรับ โฉมแอปพลิเคชัน “ทรู เฮลท์” เป็นแอปพลิเคชัน “หมอดี” มีจำนวนผู้ใช้งานรายเดือนเพิ่มสูงขึ้น 2 เท่าหลังจากการปรับโฉม

อย่างไรก็ตาม กลุ่มทรู ยังมีภาระหนี้มากถึง 545,643 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2564 ขณะที่ มีกระแสเงินสดและ 25,901 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2565

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( 'เอไอเอส-ทรู' ชิงเบอร์1 ลุยเทคโอเวอร์ ควบรวมคู่แข่งเดิม สร้างแต้มต่อธุรกิจ - กรุงเทพธุรกิจ )
https://ift.tt/v65BfQn
บ้านอัจฉริยะ

Bagikan Berita Ini

0 Response to "'เอไอเอส-ทรู' ชิงเบอร์1 ลุยเทคโอเวอร์ ควบรวมคู่แข่งเดิม สร้างแต้มต่อธุรกิจ - กรุงเทพธุรกิจ"

Post a Comment

Powered by Blogger.