Search

ส่องภาพรวมคนบันเทิง เมื่อพิษโควิด-19 เล่นงานจนระส่ำทั่วโลก - เดลีนีวส์


ต้องบอกว่าปี 2020 นี้ ถือเป็นอีกปีที่หนักสุด ๆ สำหรับวงการบันเทิงทั่วโลก เมื่อ “พิษการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19”  ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงล้มระเนนระนาดไปทั้งระบบ โดยเหล่าศิลปินและนักแสดงหลายคนขาดรายได้  และยังพร้อมใจปฏิบัติตามกฎ  เพื่อรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม ในช่วงที่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม การล็อกดาวน์ และการหยุดเชื้อเพื่อชาติ  วันนี้ “บันเทิงเดลินิวส์” จะขอพาแฟน ๆ ไปดูภาพรวมของผลกระทบจากพิษโควิดครั้งนี้ รวมไปถึงการปรับตัวของเหล่าคนบันเทิง ที่รับการทำงานในรูปแบบ “ New normal ” เพื่อความอยู่รอด  ในยุคที่จำเป็นต้องใช้ชีวิตร่วมกับเจ้าเจ้าไวรัสตัวร้ายนี้
 

 
ดาราไทยตื่นตัว โควิด-19
แมทธิว ดีน และ ลีเดีย ศรัณย์รัชต์ นับเป็นเคสแรกของวงการบันเทิงไทยที่พบว่าติดเชื้อโควิด-19   ซึ่งหลังจากทั้งคู่ออกมาแจ้งข่าวผ่านทางอินสตาแกรมว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา ทำให้คนในวงการบันเทิงคนอื่น ๆ เริ่มตื่นตัว  ศิลปิน-นักแสดงหลายคน ได้ไปตรวจเชื้อโควิด-19 และกักตัวเพื่อเฝ้าระวังอาการ ทั้ง ดีเจนุ้ย ธนวัฒน์, แมน พัฒนพล, ใบเตย สุธีร์วัน, พลอย เฌอมาลย์, แต้ว ณฐพร ฯลฯ จนมาถึง ดาราวัยรุ่น อย่าง แพรวา-ณิชาภัทร เจ้าของเพลงดัง "รักติดไซเรน"  ที่ประกาศว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เป็นดาราไทยรายที่สาม

แจ้งเกิดดาวติ๊กต๊อก
เหล่าดาราและคนบันเทิง ต่างร่วมใจกันรณรงค์ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’  เพื่อลดโอกาสการรับและแพร่เชื้อโควิด-19 พร้อมแชร์ไอเดียและกิจกรรมช่วงกักตัว ฮิตที่สุดคงเป็นการเล่นแอพพลิเคชั่น TIKTOK   ที่นำเพลงดังมาเต้นคัฟเวอร์ประกอบคลิป พูดเลียนแบบประโยคฮิตของคนดัง จนก่อเกิด “ดาวติ๊กต๊อก” มากมาย ทั้ง แต้ว-ณฐพร, เมญ่า-นนธวรรณ, นุ้ย-สุจิรา ฯลฯ
 


น้ำใจคนบันเทิงไม่ขาดสาย
ในช่วงวิกฤติโควิด-19 คนบันเทิงต่างขยับตัวช่วยเหลือสังคมตามกำลัง เริ่มตั้งแต่ คุณแม่ซุป'ตาร์  ชมพู่-อารยา  ที่บริจาคเงิน 1.2 ล้านบาท ให้กับโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อซื้อเครื่องช่วยหายใจระบบปิดให้พอต่อจำนวนผู้ป่วย อีกหนึ่งนางเอกตัวท็อป ญาญ่า อุรัสยา ก็ได้ร่วมสมทบทุนช่วยเหลือมูลนิธิและโรงพยาบาลต่าง ๆ ถึง 6 แห่ง รวมเป็นเงินถึง 3 ล้านบาท เช่นเดียวกับหวานใจ ณเดชน์ คูกิมิยะ ที่ได้มอบเงิน 2.5 ล้านบาท ให้กับโรงพยาบาลภาคใต้ 5 แห่ง และโรงพยาบาลที่ จ.ขอนแก่น อีก 1 แห่ง ฟากนางเอกสาว เบลล่า ราณี ก็ได้บริจาคเงินให้กับโรงพยาบาลถึง 5 แห่ง รวมเป็นจำนวนเงิน 2.5 ล้านบาท ส่วนนางเอกสาว แต้ว-ณฐพร ก็ร่วมบริจาคเงิน 3 ล้านบาท รวมถึงซื้อหน้ากากอนามัย และ ชุด PPE เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นกัน นอกจากนี้เหล่าคนบันเทิงบางส่วน ยังได้เปิดพื้นที่อินสตาแกรมส่วนตัว หรือพื้นที่โซเชียลมีเดียส่วนตัว ให้ทุกคนได้เข้าไปพูดคุย หรือ ‘ฝากร้าน’ รวมถึงช่วยรีวิวสินค้าให้พ่อค้าแม่ค้าแบบฟรี ๆ เช่น มิน-พีชญา, อั้ม-พัชราภา, ดีเจบุ๊กโกะ-ธนัชพันธ์บัว-นลินทิพย์,  โม-มนชนก, เปรี้ยว-ทัศนียา, พรีม-รณิดา เป็นต้น รวมไปถึงทำอาหารแจกจ่าย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่คนที่ตกงาน ขาดรายได้ อาทิ บอย–อนุวัฒน์ และ เจี๊ยบ–พิจิตตรา  คู่รักนักสู้น้ำใจงาม
 

พลิกวิกฤติ จัดอีเวนต์ออนไลน์
เมื่อมีการต้องเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อลดการระบาดของไวรัส 'การจัดอีเวนต์ในรูปแบบออนไลน์ (Online Event)' ผ่านการ Live Streaming บนแอพพลิเคชั่นจึงเข้ามาแทนที่ เพื่อให้อุตสาหกรรมยังคงดำเนินต่อไปได้ เช่น  GMM TV ที่สร้างคอนเทนต์ และจัดอีเวนต์ออนไลน์ เพื่อหาช่องทางสื่อสารกับแฟน ๆ ทั่วโลก ทดแทนการจัดงานอีเว้นท์แบบเดิมที่หายไป เช่นงาน  “Global Live Fan Meeting” ที่มี 8 นักแสดงสุดฮอต อย่าง คริส-พีรวัส, สิงโต-ปราชญา, ออฟ-จุมพล, กัน-อรรถพันธ์, เต-ตะวัน, นิว-ฐิติภูมิ เตชะ, ไบร์ท-วชิรวิชญ์, วิน-เมธวิน ฯลฯ เรียกได้ว่ากระแสตอบรับดีเกินคาด
 

คนบันเทิงเกิดอาชีพใหม่ หารายได้สู้โควิด-19
เมื่อเหล่าคนบันเทิงก็ต้องถูกยกเลิกงาน และเลื่อนออกไปทั้งหมด ทำให้ระหว่างนี้ไม่มีรายได้ แต่ยังมีค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้อยู่ รวมถึงนักร้องรุ่นใหญ่ บิลลี่ โอแกน ที่ผันตัวมาเป็นพ่อค้าขายแฮมเบอร์เกอร์ แบบดิลิเวอรี่ ด้าน พิ้งกี้-สาวิกา ก็หันมาเป็นแม่ค้าออนไลน์ หาเงินด้วยการทำโรตีขาย ส่วนแร็พเปอร์คนดัง กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ ก็หันมาเปิดร้านขายหมูปิ้งสู้วิกฤติครั้งนี้ เช่นกัน
 

 

วงการเพลงระส่ำทั่วโลก

สำหรับวงการเพลงนั้นไม่พ้นโดนพิษโควิดเล่นงานแบบเต็ม ๆ ทั่วโลก  ทั้งการปิดสถานบันเทิง งดคอนเสิร์ต ห้ามจัดอีเวนต์  เจ็บตัวไปตามกัน  ในส่วนศิลปินนั้นก็โดนแคนเซิลงานกันรัว ๆ  สูญเสียรายได้เป็นหลักล้าน อาทิ เสก โลโซ ที่เสียหายไป 3-4 ล้านบาท รวมถึง หญิงลี ศรีจุมพลกระแต  อาร์สยาม, หนุ่ม กะลา, บอย พีชเมกเกอร์  และอีกมากมาย ที่โดนยกเลิกงานกันทั่วหน้า  ส่วน “4NOLOGUE”  ปีนี้ก็ช้ำใจไม่น้อย  เพราะโดนทั้งต้นปี กับบิ๊กโปรเจคท์คอนเสิร์ตใหญ่ของศิลปินเกาหลี  “GOT7 2020 WORLD TOUR ‘KEEP SPINNING’ IN BANGKOK”  ที่จะจัดขึ้น ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน ก็ถูกเลื่อนไปไม่มีกำหนด  ส่วนปลายปีก็มาเจอพิษโควิด-19 ที่ระบาดหนักระลอกสอง ทำให้คอนเสิร์ตเต็มรูปแบบครั้งแรกของ  TRINITY”  ที่จะจัดในวันที่ 26 ธ.ค. นี้ ต้องเลื่อนออกไปก่อนเช่นกัน

 


รวมไปถึงเทศกาลดนตรีต่าง ๆ ก็โดนยกเลิกระนาว ส่วนที่ฮือฮาที่สุด ต้องยกให้ เทศกาลดนตรี  Big Mountain Music Festival 2020  ที่เขาใหญ่ จัดโดย ป๋าเต็ด - ยุทธนา บุญอ้อม  ที่ถูกกระทรวงสาธารณสุข และผู้ว่าฯ นครราชสีมา สั่งยกเลิกการจัดงานกลางคัน ด้วยเหตุผลผู้จัดงาน “การ์ดตก” ไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ที่เสนอได้  ท่ามกลางข้อกังขาจากหลายคนว่าสาเหตุจริง ๆ เป็นเพราะโรคระบาดหรือมีเรื่องอื่นมาผสม  แต่อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นี้ทำให้มีการแจ้งความเอาผิดผู้จัดงาน ที่ฝ่าฝืนคำสั่งยุติการแสดงของคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.นครราชสีมา โดยจ่อเรียก  2  ผู้บริหารจีเอ็มเอ็มฯ อย่าง ภาวิตร จิตรกร และ เล็ก - บุษบา ดาวเรือง  ขณะที่ในงาน  เทศกาลดนตรี  Farm Festival on The Hill 2020  ที่ สิงห์ปาร์ค จ.เชียงราย ก็มีหญิงสาวที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัส มาร่วมงาน ส่งผลให้ทั้งศิลปิน ทีมงาน แลผู้เข้าชมดนตรีวันนั้นต้องกักตัวกันเป็นแถว  อาทิ อิงค์ วรันธรโบกี้ไลอ้อน  รวมถึง “บิ๊กแอส”  ที่กักตัวกัน จนต้องยกเลิกงานจ้างไปถึง 6 งาน เป็นต้น  เรียกว่าวุ่นวายไปทั้งวงการ!


เช่นเดียวกับในระดับโลกก็ไม่พ้นต้องแคนเซิลงานเซ่นพิษโควิด-19  ทั้งศิลปินซุป’ตาร์ระดับแถวหน้า  มารายห์ แครี่  ที่ต้องเลื่อนคอนเสิร์ตในฮาวาย  ด้านราชินีเพลงป๊อป  มาดอนนา  ก็ประกาศยกเลิกทัวร์ทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึง คาร์ลอส ซานตาน่า   ศิลปินละตินร็อกระดับตำนาน  เป็นต้น ต่างยกเลิกคอนเสิร์ตไปตาม ๆ กัน นอกจากนี้เทศกาลดนตรีในฝันของศิลปินหลายคน อย่าง  Coachella Valley Music and Arts Festival  หนึ่งในงานดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งปีนี้มีแพลนจะจัดที่แคลิฟอร์เนีย ที่ในตอนแรกได้เลื่อนจากเดือน เม.ย มาเป็นเดือน ต.ค. แต่สถานการณ์ของโรคระบาดนี้ก็ยังคงย่ำแย่ จนทำให้ผู้จัดต้องยกเลิกงานไปในที่สุด
 

สตรีมมิ่ง คอนเสิร์ต (Streaming Concert) ทางออกที่ดีที่สุด
ทั้งนี้เหล่าศิลปิน ค่ายเพลง และผู้จัด  จึงคิดวิธีเอาตัวรอดในช่วงวิกฤติเช่นนี้ ด้วยการผุดการแสดงรูปแบบใหม่ ทั้งคอนเสิร์ตและแฟนมีตติ้ง  ที่ถูกถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์  โดยในวงการเคป๊อป ซึ่งรายได้อีกส่วนที่สำคัญมาก ๆ นั้นมาจากคอนเสิร์ตและการทัวร์ไปยังประเทศต่าง ๆ แต่เมื่อเกิดวิกฤติการณ์เช่นนี้ขึ้น  จึงต้องปรับตัวกันขนานใหญ่  อาทิ ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ “SM Entertainment”  ที่จับมือกับ “NAVER”  ส่งบริการสตรีมมิ่งคอนเสิร์ต ที่เรียกว่า “Beyond Live” หรือ คอนเสิร์ตคิดค่าบริการทางออนไลน์  ซึ่งได้รวมเอาการแสดงสดและเทคโนโลยีอันล้ำสมัย  อาทิ  กราฟิก 3 มิติแบบเรียลไทม์ หรือเทคโนโลยี AR เข้าไว้ด้วยกัน ถ่ายทอดสดให้ชมพร้อมกันทั่วโลกแบบ ผ่านแอพพลิเคชั่น วีไลฟ์ ( V Live)  รวมถึงแฟน ๆ ยังโต้ตอบกับศิลปินได้แบบเรียลไทม์อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ไว้บริการแฟน ๆ ซึ่งก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างดี  อาทิ คอนเสิร์ตออนไลน์ “MAP OF THE SOUL ON:E”  ของบอยแบนด์ระดับโลก   BTS  ก็มีจำนวนผู้เข้าชมสูงถึง  993,000  คน จาก 191 ประเทศทั่วโลก  และเมื่อคำนวณรายได้จากการขายบัตรราคาต่ำสุด 49,500 วอน  คาดว่า Big Hit ทำรายได้จากคอนเสิร์ตนี้ราว 1.3 พันล้านบาททีเดียว
 

ขณะที่ทางฝั่งศิลปินฝั่งตะวันตก ก็ใช้การแสดงรูปแบบเดียวกันนี้ กับการไลฟ์ สตรีมมิ่ง ( Live Stream)  คอนเสิร์ต อาทิ  ชอว์น เมนเดส ,  แซม สมิธ   และ บิลลี่ อายลิช  เป็นต้น  เช่นเดียวกับศิลปินไทย ที่ปรับตัวมาเป็นคอนเสิร์ตแบบสตรีมมิ่งผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ แบบวิถีใหม่  อาทิ แสตมป์-อภิวัชร เอื้อถาวรสุข  ที่จัดไลฟ์ อินเตอร์แอคทีฟ คอนเสิร์ต ผ่านแอพพลิเคชั่น  Zoom  รวมไปถึงศิลปินรุ่นใหญ่ ปู - พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ ที่จัดคอนเสิร์ตออนไลน์ผ่านยูทูบเป็นครั้งแรกเช่นกัน  เป็นต้น

อย่างไรก็ตามคอนเสิร์ตในรูปแบบออนไลน์นี้ ก็มีทั้งข้อดี คืออย่างน้อยก็เป็นอีกช่องทางนึง ที่ทำให้ศิลปินและแฟนเพลง ได้ร่วมสนุกกันในบรรยากาศแบบคอนเสิร์ต , ศิลปินและทีมงานไม่ต้องเหนื่อยล้าจากการเดินทาง ไม่ต้องเสี่ยงติดโรคระบาด  และไม่ต้องกังวลเรื่องสถานที่ในการรองรับแฟน ๆ รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องที่พัก หรือค่าเดินทางต่าง ๆ แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน  อย่างแรกเลยคืออรรถรส ที่ไม่มีทางเทียบเคียงได้กับบรรยากาศการอยู่ในคอนเสิร์ตจริง ๆ และในแง่ของรายได้จากการที่แฟน ๆ ซื้อบัตร ก็ไม่สามารถควบคุมได้ว่าบัตร  1 ใบนั้นสามารถเข้าได้เพียง 1 คน  เพราะแฟน ๆ อาจซื้อบัตรเพื่อดู 1  ครั้งแล้วเปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์ ดูกับเพื่อน ๆ เป็น 10 คนพร้อมกัน ก็ย่อมทำได้ ซึ่งทางผู้จัดก็จะสูญเสียโอกาสในส่วนของรายได้ตรงนี้ไป


 

นอกจากนี้การแถลงข่าวเปิดตัว การโปรโมต รวมถึงสัมภาษณ์ ศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศ ก็ถูกเปลี่ยนใหม่เป็นรูปแบบ นิว นอร์มัล มาใช้เป็นสัมภาษณ์ทางออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ  อาทิ Zoom,   Skype  และ  Google Meet  เป็นต้น 


 

ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ เลื่อนฉายระนาว
อีกหนึ่งวงการที่ได้รับผลกระจากพิษโควิด-19 แบบเต็ม ๆ  ก็คือแวดวงภาพยนตร์ ที่ต้องบอกว่าล้มระเนนระนาดกันทั้งระบบตั้งแต่ผู้ผลิต นักแสดง ไปจนถึงโรงภาพยนตร์ ทั้งในแวดวง ฮอลลีวูด ที่แพลนเดิมของปี 2020 นี้ ต้องบอกว่าคึกคักมาก เพราะมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์มากมายจ่อคิวเข้าฉาย  แต่ก็มีอันต้องเลื่อน อาทิ “Black Widow”  ภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่หญิงเดี่ยวจาก “มาร์เวล”  กับเล่าเรื่องสายลับสาว นาตาชา โรมานอฟ ที่เสียสละตัวเองไปในภาพยนตร์  “Avengers  Endgame” ทำให้สาวกของสายลับตัวแม่เฝ้ารอหนังเดี่ยวของเธอ แต่แล้ว “Black Widow”  ก็ถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก จนได้คิวเข้าฉาย วันที่  7 พฤษภาคม 2021 
 


เช่นเดียวกับ  “Dune”  ภาพยนตร์มหากาพย์ไซไฟฟอร์มยักษ์  ก็ถูกเลื่อนไปเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2021 ส่วน  ภาพยนตร์แฟรนไชส์แข่งรถสุดเดือด ภาคล่าสุด อย่าง “F9: The Fast Saga”  ก็ต้องซิ่งหนีโควิดไปก่อน เป็นเข้าฉายวันที่ 28 พฤษภาคม 2021  และ เจมส์ บอนด์ ตอน  “พยัคฆ์ร้ายฝ่าเวลามรณะ (No Time To Die)”  ที่ แดเนียล เคร็ก จะรับบทเป็นสายลับ “บอนด์”  ภาคสุดท้ายนั้น ก็ถูกเลื่อนไปฉายวันที่ 2 เม.ย. 2021  ขณะที่ภาพยนตร์สยองขวัญระดับขึ้นหิ้ง ที่แฟน ๆ เฝ้ารอ อย่าง  “The Conjuring”  ภาค 3 ที่ใช้ชื่อ “The Devil Made Me Do It”  ก็ถูกเลื่อนเป็นวันที่  4 มิถุนายน ปีหน้า  รวมถึงภาพยนตร์เกาหลีฟอร์มยักษ์  “SEOBOK มนุษย์อมตะ”  แสดงโดย 2 ซูเปอร์สตาร์เกาหลี อย่าง กงยู และ พัคโบกอม ก็ขอเลื่อนฉายออกไปก่อนเช่นกัน  เป็นต้น
 


วงการหนังปรับตัวลงสู่แพลตฟอร์มออนไลน์
สำหรับบางเรื่องที่ยืนยันขอฝ่าวิกฤติ ก็ดูเจ็บหนักไม่น้อย  เพราะผลจากการล็อกดาวน์  ที่ทำให้โรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเปิดบริการ  แต่ทางผู้สร้างและค่ายหนัง ก็พยายามปรับกลยุทธ์และหาทางออกที่ดีที่สุด คือ “ช่องทางการสตีมมิ่ง”  นำโดยค่าย “วอลต์ ดิสนีย์ (Walt Disney)”  ที่นำร่องเอาภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์  “ Mulan ” มาลงฉายในสตรีมมิ่ง  ดิสนีย์พลัส (Disney+)   สำหรับประเทศที่มีบริการแล้ว  เช่น สหรัฐอเมริกา  โดยสมาชิกต้องจ่ายเพิ่มประมาณ 900 บาท  เพื่อเข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ส่วนประเทศที่ยังไม่มีบริการ เช่น จีน และ ไทย เป็นต้น ก็จะเข้าโรงฉายตามปกติ  ส่วนเรื่องรายได้ต้องบอกว่า “Mulan”  เป็นหนังที่มีทุนสร้างสูงถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  แต่ภาพยนตร์โดนดราม่ามากมาย ทั้งการเข้าไปถ่ายทำหนังในซินเจียง, ความเห็นทางการเมืองของนักแสดงนำ อย่าง หลิวอี้เฟย การเปลี่ยนเรื่องราวและตัวละครต่างไปจากต้นฉบับแอนิเมชั่น เป็นต้น ทำให้ “Mulan”  โดนกระแสแอนตี้ รายได้จากการฉายในโรงภาพยนตร์นั้นไม่ปัง แม้แต่ในจีนที่เป็นตลาดหลัก  แต่ดูเหมือนในแพลตฟอร์ม  ดิสนีย์พลัส กลับเป็นหนังคนละม้วน เมื่อมีรายงานว่ามีผู้ชมยอมเสียเงินเพิ่มเพื่อดูเรื่องนี้ โดยทำรายได้เฉพาะส่วนจ่ายพิเศษถึง  35.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  มากกว่ารายได้ในโรงหนัง แถมยังเป็นรายได้เข้า ดิสนีย์ 100 เปอร์เซ็นต์  เพราะไม่ต้องจ่ายส่วนแบ่งให้กับใคร ทั้งโรงหนังหรือแพลตฟอร์มที่ฉาย และ “Mulan”  ยังทำให้ยอดสมัครสมาชิก ดิสนีย์พลัส  เพิ่มขึ้นถึง 68%  ซึ่งเมื่อนับรายได้จนถึงวันที่ 12  ก.ย นี้ “Mulan”  ก็ทำรายได้รวมทั่วโลกมากกว่า 261 ล้านดอลลาร์ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และฉายตามโรงภาพยนตร์
 


ในขณะที่ “วอร์เนอร์ บราเดอร์ส  (Warner Bros.)” ที่ขอดัน  “Tenet ”  ภาพยนตร์แอ๊คชั่นไซไฟฟอร์มยักษ์ ผลงานผู้กำกับ คุณป๋า คริสโตเฟอร์ โนแลน ที่มีแฟนคลับอยู่ทั่วโลก ท้าชนกับโควิด–19  โดยการลงฉายในโรงภาพยนตร์  ซึ่งกวาดรายได้ในโรงหนังทั่วโลกไปกว่า 362 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  แม้ภาพรวม Tenet จะสามารถทำรายได้ในระดับดี เมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติอย่างในตอนนี้  แต่ดูเหมือนรายได้เท่านี้ก็ยังน่าผิดหวัง เนื่องจากหนังมีทุนสร้างที่สูงถึง  200–225  ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ทีเดียว  อย่างไรก็ดี “วอร์เนอร์ บราเดอร์ส”  ได้เผยแพลนปีหน้า  กับการปรับตัวครั้งใหญ่ โดยการนำหนังทุกเรื่องของทางค่ายที่กำหนดฉายในปี 2021 ไปฉายบน  เอชบีโอ แม็กซ์ ( HBO Max)  แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของทางค่าย โดยจะฉายไปพร้อมกับในโรงหนัง แต่ล่าสุดดูเหมือนไม่ต้องรอถึงปีหน้า เพราะล่าสุด  วอร์เนอร์ฯ ได้นำภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่หญิงฟอร์มยักษ์ ฝั่ง ดีซี อย่าง “ Wonder Woman 1984 ” ภาคต่อของ “Wonder Woman” ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยเข้าฉายทั้งในโรงภาพยนตร์  พร้อมกับบริการสตรีมมิ่ง เอชบีโอ แม็กซ์  ไปเรียบร้อยแล้ว
 


 

หนังเอเชียเฉิดฉาย สู้พิษโควิด
นอกจากนี้ในฝั่งเอเชีย ยังมี “Peninsula ฝ่านรก ซอมบี้คลั่ง” ภาพยนตร์ซอมบี้สัญชาติเกาหลี  ที่พร้อมบวกกับพิษโควิด โดยเป็นหนังฟอร์มยักษ์เรื่องแรก ๆ ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ เหมือนปลุกชีพจรอุตสาหกรรมหนัง ซึ่งเก็บรายได้ไป 39.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และตอนนี้ก็กำลังลงฉายในเน็ตฟลิกซ์ ส่วนภาพยนตร์ที่โชว์ฟอร์มได้อย่างร้อนแรงในยุคที่ต้องเผชิญท่ามกลางโรคระบาด  ต้องยกให้อนิเมะญี่ปุ่นเรื่องดัง  อย่าง ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่: ศึกรถไฟสู่นิรันดร์ (Demon Slayer: Kimetsu no Yaiba the Movie: Mugen Train)” ที่ล่าสุดทะยานขึ้นแท่นหนังทำเงินอันดับ 1 สูงสุดตลอดกาลของญี่ปุ่นไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยรายได้ราว 32,500 ล้านเยน หรือประมาณ 9,480 ล้านบาท ภายใน 73 วัน  โค่นแชมป์เก่า “มิติวิญญาณมหัศจรรย์ (Spirited Away)”  (รายได้ 31,700 ล้านเยน) ที่ครองอันดับหนึ่งบนบ็อกซ์ออฟฟิศญี่ปุ่นมายาวนานถึง 19 ปี ลงได้สำเร็จ นอกจากนี้ “ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่ : ศึกรถไฟสู่นิรันดร์”  ยังทำสถิติที่น่าทึ่ง ด้วยการใช้เวลาเพียง 59 วัน ในการทำรายได้ก้าวเข้าสู่หลัก 3 หมื่นล้าน ขณะที่ “Spirited Away”  ใช้เวลา 253 วัน ในการทำรายได้แตะหลัก 3 หมื่นล้าน  และยังมีรายงานอีกว่า ทั้ง ๆ ที่อยู่ในช่วงการระบาดเชื้อโควิด-19  แต่ “ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่ : ศึกรถไฟสู่นิรันดร์”  ยังสามารถขายบัตรเข้าชมภาพยนตร์ ในประเทศญี่ปุ่นได้ถึง 24 ล้านใบทีเดียว ส่วนในไทยก็ได้รับกระแสตอบรับถล่มทลายเช่นกัน โดยเข้าฉายในไทยวันแรกเมื่อวันที่ 9 ธ.ค ที่ผ่านมา สามารถทำรายได้มากถึง 7.68 ล้านบาท กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้วันเปิดตัวสูงสุดในไทยเป็นอันดับ 2  และยังคงร้อนแรงต่อเนื่อง โดยนับถึงวันที่ 28 ธ.ค. ก็กวาดรายได้ในไทยไปแล้ว 114.8 ล้านบาท ทีเดียว
 


ส่องวงการหนังไทย
ในส่วนหนังไทย ก็ต้องบอกว่าเจ็บหนักไม่แพ้กัน โดยเฉพาะหนังที่มีคิวเข้าฉายช่วงครึ่งปีหลัง ที่มีทั้งเลื่อน อาทิ คุณชายใหญ่” ที่มีกำหนดฉาย 31 ธ.ค. นี้ ก็เลื่อนฉายไม่มีกำหนด  ส่วนที่ฉายต่อก็ทั้งปังและพัง อาทิ  “พจมานสว่างคาตา” เก็บเงินไปได้ 23.7 ล้านบาท, “มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ”  ที่ทุนสร้างไม่มาก แต่ก็ทำรายได้สูงถึง  43 ล้านบาท, "คืนยุติ-ธรรม" ทำรายได้ราว 4.2 ล้านบาท, “ฮักเถิดเทิง” สอยไปราว 13.6 ล้านบาท, “เฮ้ยลูกเพ่ นี่ลูกพ่อ” เก็บรายได้ไปราว 17.3  ล้านบาท,  “MOTHER GAMER เกมเมอร์ เกมแม่”  เก็บรายได้ไปราว 12.68 ล้านบาท,“เลิฟยู โคกอีเกิ้ง” เก็บรายได้ราว 6.43 ล้านบาท, “หลวงพี่กะอีปอบ” ทำรายได้ราว 26.6 ล้านบาท  และ “รักหนูมั้ย”  เก็บรายได้ราว  8.7 ล้านบาท  เป็นต้น  ส่วนหนังที่เข้าฉายเดือน ก.พ. อาทิ “สุขสันต์วันโสด (LOW SEASON)” เก็บรายได้ราว  78 ล้านบาท “พี่นาค 2”   คว้าไปราว 101 ล้านบาท  แต่ปังที่สุดยกให้  “อีเรียมซิ่ง”  ที่มาในจังหวะพอดิบพอดี จนสามารถกู้ชาติ ทำรายได้ทะลุ 200 ล้านบาท ขึ้นแท่นหนังไทยที่ทำรายได้สูงสุดในปีนี้ ส่วนหนังฟอร์มยักษ์  “อ้าย..คนหล่อลวง” ที่เริ่มต้นมาดี รายได้นับจนถึงวันที่ 28 ธ.ค. สามารถเก็บได้ไป 92.1 ล้านบาท แต่ก็เจอพิษโควิดระลอกใหม่ จนทำให้ต้องลุ้นรายได้กันต่อไป

ดาวเด่นท่ามกลางวิกฤติ
ท่ามกลางเกิดวิกฤติไวรัสอาละวาดครั้งนี้  แต่แบรนด์ที่โชว์ฟอร์มได้อย่างโดดเด่นในปี 2020 ต้องยกให้ เน็ตฟลิกซ์  (Netflix)”  ที่กลายเป็นแบรนด์ที่มูลค่าเพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลก จากการจัดอันดับ “The World’ Most Valuable Brands 2020”  โดย  Forbes  ด้วยมูลค่าแบรนด์ ประมาณ  8 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 72% จากปี 2019  ซึ่งนอกจากภาพยนตร์ในโรงหนังที่ถูกนำมาลงสตรีมมิ่งใน “เน็ตฟลิกต์”  เป็นจำนวนมากแล้ว  ทาง “เน็ตฟลิกต์  ยังผลิตหนังเอง แถมดึงเหล่าผู้กำกับและนักแสดงระดับแถวหน้ามาร่วมงานมากมาย อาทิ “Extraction”  นำแสดงโดย คริส เฮมส์เวิร์ธ,  “The Old Guard” นำแสดงโดย ชาร์ลิซ เธอรอน  รวมถึง “Devil All The Time” นำแสดงโดย ทอม ฮอลแลนด์ และ โรเบิร์ต แพตทินสัน  เป็นต้น ซึ่งก็ล้วนได้รับกระแสตอบรับที่ดีไม่แพ้กัน

เรียกว่าเป็นอีกปีที่ท้าทายสำหรับบุคคลในวงการบันเทิง รวมถึงยังเป็นการวัดกึ๋นและความสามารถในการเอาตัวรอดท่ามกลางวิกฤติไวรัสมรณะครั้งนี้ ส่วนปีหน้าฟ้าใหม่ อุตสาหกรรมบันเทิงทั่วโลกจะเป็นอย่างไร และหากไวรัสโควิด–19 นี้ ยังไม่หมดไปง่าย ๆ คนในวงการต้องปรับตัวไปในทิศทางไหน ถือว่าเป็นอีกเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดจริง ๆ
 

ทีมบันเทิงเดลินิวส์
PHOTO : Warner Bros, Disney

Let's block ads! (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( ส่องภาพรวมคนบันเทิง เมื่อพิษโควิด-19 เล่นงานจนระส่ำทั่วโลก - เดลีนีวส์ )
https://ift.tt/3aUuWOj
บันเทิง

Bagikan Berita Ini

0 Response to "ส่องภาพรวมคนบันเทิง เมื่อพิษโควิด-19 เล่นงานจนระส่ำทั่วโลก - เดลีนีวส์"

Post a Comment

Powered by Blogger.