16 มีนาคม 2564 | โดย ดร.สมชาย หาญหิรัญ สมาชิวุฒิสภา
99
ผมเห็นข่าวความร่วมมือในการจัดทำโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของเทศบาลตำบลบ้านฉางในจ.ระยอง โดยใช้เทคโนโลยี 5G มาเชื่อมโยงให้ทุกอย่างง่ายขึ้น
ผมเห็นข่าวความร่วมมือในการจัดทำโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของเทศบาลตำบลบ้านฉางในจ.ระยอง ที่เป็นความร่วมมือระหว่างเทศบาลตำบลบ้านฉาง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติจำกัด และสำนักคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) โดยใช้เทคโนโลยี 5G ซึ่งใครๆ ก็พอรู้ว่าการมาของ 5G จะทำให้การเชื่อมโยงของทุกอย่างง่ายและสะดวก รวดเร็วมากขึ้น
จากข่าวที่มีการแถลงนั้น ตอนนี้การวางโครงสร้างพื้นฐาน 5G ในพื้นที่ EEC ก็ลุล่วงไปกว่า 80% รวมทั้งการพัฒนาแอพพลิเคชั่นหรืออุปกรณ์เพื่อการให้บริการด้านต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนก็อยู่ในแผนงานและบางส่วนก็เริ่มลงมือทำไปแล้ว อาทิ เสาอัจฉริยะที่สารพัดประโยชน์ทั้งการตรวจจับคุณภาพอากาศ รวบรวมและติดตามการเคลื่อนไหวเหตุการณ์ต่างๆ ในพื้นที่ และเป็นเครือข่ายการชาร์จไฟฟ้าให้กับรถไฟฟ้าในอนาคต ฯลฯ
ปัจจัยความสำเร็จในโครงการนี้ที่สำคัญก็คือ การบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อดูแล และให้บริการกับประชาชนในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีแผนการที่จะรวมข้อมูลกลางสาธารณะเพื่อธุรกิจหรือ Common data lake เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันในการบริหารจัดการพื้นที่ เรียกว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในเมืองนี้ ผู้บริหารที่รับผิดชอบในด้านต่างๆ สามารถจัดการได้รวดเร็ว นึกถึงเหตุการณ์รายวัน ผมว่าคนในพื้นที่ในทุกเช้าก็อยากเดินทางสะดวก รวดเร็ว รถไม่ติด ดังนั้น ผู้คนต้องสามารถเรียกดูข้อมูลเส้นทางเพื่อให้ตนเองเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว กำหนดเวลาถึงเป้าหมายได้ตรงเวลา
“ผมว่าแค่นี้คนก็พอสัมผัสของการเป็นเมืองอัจฉริยะได้ หรือแม้แต่การวางแผนแม้การวางแผนชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถไฟฟ้าที่ใช่ว่าตรงไหนมีให้บริการและว่าง หรือแม้แต่การเชื่อมกับโรงพยาบาลเพื่อให้บริการด้านสาธารณสุข คุยกับหมอได้สะดวกตลอดเวลา ก็ยิ่งดีใหญ่”
ลองยกตัวอย่างเหตุการณ์ผิดปกติ สมมติว่ามีไฟไหม้ในพื้นที่หนึ่งในพื้นที่ หน่วยที่รับผิดชอบในเรื่องต่างๆ จะรับข้อมูลพร้อมๆ กัน และรู้ทันทีว่าตัวเองต้องทำอย่างไร เพื่อให้สอดประสานกัน
ผมนึกถึงปัจจัยความสำเร็จในการจัดการไม่ว่าเหตุการณ์ปกติหรือผิดปกติในเมืองอัจฉริยะที่ผมเคยเห็น เขาจะมีงานเบื้องหลังที่ซับซ้อนที่ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้ทั้งหมด มีข้อมูลแบบ real time ของกิจกรรมสาธารณะจำนวนมาก และมีการเชื่อมโยงของหน่วยงานทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง การสั่งการของศูนย์รวมของเมือง เพื่อให้มีเอกภาพในการสนองตอบต่อเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นหน่วยงานกลางของเมืองนี้ต้องมีอำนาจในการสั่งการในการดำเนินการ และทุกหน่วยงานต้องมีข้อมูลรายละเอียดของกิจกรรมหรือภารกิจที่ตนเองดูแลในพื้นที่ลงให้เป็นฐานข้อมูลกลางหรือเชื่อมกับส่วนอื่นๆ ให้ได้ทั้งหมด นอกจากนี้ ผู้คนในเมืองสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ของระบบบริการอัจฉริยะอย่างสะดวกและทั่วถึง ซึ่งในกรณีนี้ไม่ค่อยห่วงนัก เพราะหน่วยงานเอกชนที่ร่วมพัฒนาเครือข่ายและแอพพลิเคชั่นนั้นมีความพร้อมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่สำคัญของการสร้างเมืองอัจฉริยะในบ้านเรา ก็คือความพร้อมของคนและหน่วยงานในพื้นที่มีความพร้อมในด้านอัจฉริยะที่ต่างกัน เครื่องไม้เครื่องมือที่ไม่ครบถ้วน และระบบของการทำงานยังอยู่ในการคอนโทรลจากส่วนกลางของแต่ละหน่วยงาน อีกทั้งข้อมูลที่จะใช้เป็นฐานการทำงานร่วมกันมีน้อยและไม่สมบรูณ์ อาจต้องใช้เวลาสักพักในการสร้างความครบถ้วนของข้อมูลที่จำเป็น
นอกจากนี้ อำนาจในการสั่งการของทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จะมีมากน้อยและเบ็ดเสร็จเหมือนที่เราเห็นในต่างประเทศหรือไม่ ซึ่งอาจต้องมีระเบียบในการควบคุมบริหารที่ชัดเจน เพราะหากจะใช้แบบขอความร่วมมือกัน เหมือนที่เคยเห็นในช่วงที่ผ่านมาละก้อ เราก็จะได้ความอัจฉริยะแบบไทยๆ
https://ift.tt/3qV9Svo
บ้านอัจฉริยะ
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ความพร้อม“เมืองอัจฉริยะ” ต้องมีจริงไม่ใช่“แบบไทยๆ” - กรุงเทพธุรกิจ"
Post a Comment