Search

'ไม่สวมแมสก์ออกจากบ้าน' ผิดกฎหมายข้อไหน สถานการณ์แบบใดที่สามารถยืดหยุ่นได้ - ไทยรัฐ


การสวมหน้ากากหรือแมสก์ (Mask) เป็นมาตรการมาตั้งแต่ช่วงแรก ถึงแม้ว่าตอนแรกสุดจะมีการถกเถียงกันว่าใครควรใส่-ไม่สวม เพราะตอนนั้นยังไม่มีข้อค้นพบว่า ผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการก็สามารถแพร่เชื้อได้ และยังไม่มั่นใจประสิทธิภาพระหว่างแมสก์เขียว (หน้ากากอนามัย) กับแมสก์ผ้า

แต่ตอนนี้ทุกคนสวมแมสก์ หรืออย่างน้อยก็ต้องห้อย ‘พระแมสก์’ ก่อนออกจากบ้าน ที่สำคัญถ้าไม่มีแมสก์ พนักงานร้านเซเว่นฯ จะไม่ให้เข้าร้านเด็ดขาด! ลืมไม่ได้เลย

ในการระบาดระลอกใหม่ เมษายน 2564 บางจังหวัดได้ประกาศ ‘สวมหน้ากาก 100%’ ยกตัวอย่าง จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 19 เมษายน ผู้ว่าฯ ได้ประกาศให้ “ประชาชนในพื้นที่จังหวัด… สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่พำนักของตน”

ล่าสุด (21 เมษายน) ไทยรัฐออนไลน์ได้รายงานว่า พนักงานอัยการคดีศาลแขวงสุราษฎร์ธานี ได้ยื่นฟ้องผู้ฝ่าฝืนไม่สวมหน้ากากอนามัยตามคำสั่งจังหวัด 1 ราย ในพื้นที่ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี โดยศาลมีคำพิพากษาปรับ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงปรับ 2,000 บาท

หลายคนน่าจะสงสัยเหมือนกันกับผมว่า การไม่สวมแมสก์ออกจากบ้านผิดกฎหมายข้อไหน? และความจริงแล้วในบางสถานการณ์ เราไม่จำเป็นต้องสวมแมสก์ได้หรือไม่?

กฎหมายบังคับให้สวมแมสก์

เมื่อย้อนกลับไปยังคำสั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ 2323/2564 ผู้ว่าฯ อาศัยอำนาจตามความในข้อ 7 แห่งข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 ประกอบกับมาตรา 22 และ 34 แห่งพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 จึงต้องเปิดกฎหมายดูทีละข้อ

  • “ข้อ 7 มาตรการเตรียมรับสถานการณ์” ส่วนที่เกี่ยวข้องน่าจะเป็น “(1) ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทุกมิติในเขตท้องที่ที่ตนรับผิดชอบ…” ข้อนี้จึงเป็นเพียงการมอบอำนาจให้ผู้ว่าฯ ออกประกาศต่างๆ เท่านั้น


ในขณะที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มี 3 มาตราที่ปรากฏในประกาศดังกล่าว ได้แก่

  • มาตรา 22 อยู่ในหมวด 3 คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด “ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมีอํานาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้… (7) ดําเนินการอื่นใดที่เกี่ยวกับการควบคุมโรคติดต่อตามที่คณะกรรมการหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย หรือตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้”
  • มาตรา 34 อยู่ในหมวด 6 การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ “...ให้เจ้าพนักงาน ควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่นั้นมีอํานาจที่จะดําเนินการเองหรือออกคําสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ใดดําเนินการ ดังต่อไปนี้…” ส่วนที่เกี่ยวข้องมากที่สุดคือ “(6) ห้ามผู้ใดกระทําการหรือดําเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป”
  • มาตรา 51 อยู่ในหมวด 9 บทลงโทษว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 34 (1) (2) (5) หรือ (6) ... ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท”


ดังนั้น การไม่สวมแมสก์เมื่อออกจากบ้านผิดกฎหมายที่เป็นประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 34 (6) ถ้าฝ่าฝืนจะถูกลงโทษตามมาตรา 51 โดยจังหวัดอื่นๆ ก็อ้างถึงมาตราเดียวกันนี้ ทั้งนี้ขึ้นกับแต่ละจังหวัดว่าจะออกคำสั่งนี้หรือไม่

ขณะนี้ มีอย่างน้อย 10 จังหวัดที่บังคับให้สวมแมสก์ แต่สังเกตประกาศของจังหวัดกาญจนบุรี (20 เมษายน) จะจำกัดการบังคับเฉพาะในตลาด ตลาดนัด และตลาดน้ำ

สถานการณ์ที่ไม่จำเป็นต้องสวมแมสก์

การสวมแมสก์เปลี่ยนจากความสมัครใจหรือความตื่นตัวที่จะป้องกันตนเองจากโควิด-19 เป็นคำสั่งหรือข้อบังคับ ไม่ต่างจากหมวกกันน็อก/เข็มขัดนิรภัย แต่อุปกรณ์ป้องกัน 2 อย่างนี้ต้องสวม/คาดเฉพาะเวลาขับขี่รถเท่านั้น ในขณะที่แมสก์ถูกบังคับให้สวมตั้งแต่ออกจากบ้าน

ถึงแม้แมสก์จะป้องกันการได้รับเชื้อ คือป้องกัน ‘ผู้ป่วย’ แพร่เชื้อออกมาทางละอองน้ำลาย น้ำมูก เสมหะในระยะ 1-2 เมตร และป้องกัน ‘ผู้ที่ยังไม่ป่วย’ ไม่รับเชื้อเข้าไป แต่ถ้าพิจารณาความสมเหตุสมผลแล้วในบางสถานการณ์ที่ไม่มีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อเลย ก็ไม่จำเป็นต้องสวม ได้แก่

  • อยู่คนเดียว เช่น เดินอยู่คนเดียว ขี่มอเตอร์ไซค์/ขับรถคนเดียว เพราะเมื่ออยู่คนเดียวก็ไม่สามารถแพร่เชื้อให้ใคร หรือรับเชื้อต่อมาจากใครได้
  • อยู่ในพื้นที่เปิดโล่งที่คนไม่พลุกพล่าน เช่น ทางเท้า สวนสาธารณะ ชายทะเล ก็สามารถใช้การเดินเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร แทนได้


แล้วอย่างนี้ตลาดกลางแจ้ง เช่น ตลาดนัด ตลาดที่อากาศถ่ายเทสะดวกจะสามารถถอดแมสก์ได้ไหม? คำตอบโดยทั่วไปแล้ว ‘ไม่ควร’ เพราะมีโอกาสหยุดพูดคุยใกล้ชิดกับแม่ค้า หรือมีคนเดินเข้ามาใกล้ และการสวมแมสก์เข้า-ถอดแมสก์ออกโดยไม่ได้ล้างมือ จะทำให้แมสก์สกปรกได้

  • ออกกำลังกายในสนาม/สวน เพราะการออกแรงทำให้หายใจเร็ว การสวมแมสก์จะทำให้หายใจลำบาก ซึ่งควรใช้การเว้นระยะห่างแทนเช่นกัน


แล้วมันต้องเว้นระยะห่างเท่าไรกัน? เพราะการออกกำลังกายจะทำให้หายใจแรงขึ้น ซึ่งเคยมีข่าวแบบจำลองว่าต้องเว้นระยะไกลขึ้น แต่ทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐฯ (CDC) ยังคงแนะนำให้ห่าง 1-2 เมตรเท่าเดิม (แน่นอนว่ายิ่งห่างเท่าไร ยิ่งปลอดภัยเท่านั้น)

นอกจากนี้ บางสถานการณ์ก็จำเป็นต้องสวมแมสก์ ถึงแม้จะอยู่ภาย ‘ในบ้าน’ หรือภายในอาคารก็ตาม เช่น การพูดคุยใกล้ชิดกับผู้อื่น, บ้านที่กลุ่มเสี่ยงพักอาศัยกับผู้สูงอายุ, สถานที่ราชการ/ร้านค้า/ห้างสรรพสินค้าที่ต้องติดต่อกับคนจำนวนมาก หรือแม้แต่การออกกำลังกายในยิมหรือฟิตเนส

เพราะฉะนั้น ผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่าเพื่อป้องกันการระบาดของโรค โดยที่บางสถานการณ์สามารถยืดหยุ่นได้ ส่วนประชาชน เมื่อพูดคุยใกล้ชิดกับผู้อื่น หรือเข้าไปในสถานที่แออัด รวมถึงรถโดยสารสาธารณะ ก็ต้องสวมแมสก์ป้องกันตัวเอง

โดยไม่ต้องให้กฎหมายบังคับ …จนกว่าจะฉีดวัคซีนได้ครอบคลุม

อ้างอิง:

Let's block ads! (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( 'ไม่สวมแมสก์ออกจากบ้าน' ผิดกฎหมายข้อไหน สถานการณ์แบบใดที่สามารถยืดหยุ่นได้ - ไทยรัฐ )
https://ift.tt/2ROj8We
บ้าน

Bagikan Berita Ini

0 Response to "'ไม่สวมแมสก์ออกจากบ้าน' ผิดกฎหมายข้อไหน สถานการณ์แบบใดที่สามารถยืดหยุ่นได้ - ไทยรัฐ"

Post a Comment

Powered by Blogger.