Search

คอลัมน์การเมือง - บทเรียนบ้านเอื้ออาทร - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

การช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีความมั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกรัฐบาลควรทำ

และรัฐบาลไหนที่มีการโกงกินจากเรื่องนี้ นับว่าอำมหิต ชั่วร้ายมาก


เพราะมันหมายถึงการโกงกินบนโครงการที่ช่วยเหลือประชาชนคนยากจน

1. สำหรับโครงการด้านที่อยู่อาศัยในยุคนี้ มีอีกหลายโครงการ แตกต่างกันออกไปตามกลุ่มเป้าหมาย ทำเลที่ตั้ง ไม่ว่า
จะเป็นบ้านมั่นคง ชุมชนริมคลองลาดพร้าว คลองเปรมฯ ฯลฯ

สัปดาห์ที่แล้ว นายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในพิธีส่งมอบสิทธิโครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย “บ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า” ให้กับผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง โครงการบริเวณแขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ

เป็นโครงการที่ช่วยให้ผู้มีรายได้น้อย สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ราคาประหยัด สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนในชุมชน รวมทั้งการเข้าถึงบริการของภาครัฐและสาธารณูปโภคพื้นฐาน ในระยะต่อไป จะดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนให้เป็นพื้นที่ “เศรษฐกิจสุขประชา” เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนคู่ขนาน โดยผู้อยู่อาศัยสามารถประกอบอาชีพอิสระเพิ่มขึ้นในชุมชน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีตั้งแต่เกษตรอินทรีย์ เลี้ยงกบ ปศุสัตว์ อาชีพบริการชุมชน ฯลฯ ช่วยให้คนที่อยู่อาศัยได้ทำงานทำการ มีอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีในย่านชุมชนที่อยู่อาศัยของตนเอง

2. โครงการบ้านเพื่อคนยากจนสมัยรัฐบาลทักษิณก็มีชื่อว่า โครงการบ้านเอื้ออาทร

บางโครงการ ชาวบ้านก็ยังได้อยู่อาศัยมาจนถึงวันนี้

แต่บางโครงการ โกงกิน บริหารล้มเหลว ผู้รับเหมาทิ้งงาน ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย จากเงินแผ่นดินที่ถลุงไปผ่านการซื้อที่ดินและจ่ายเงินค่าก่อสร้างไปแล้ว ยุคทักษิณ ดังเช่นโครงการบ้านเอื้ออาทร อำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ทำสัญญาซื้อที่ดินเพื่อดำเนินโครงการ เมื่อ 20 ต.ค. 2548 จำนวน 288 หน่วย บนเนื้อที่ 25 ไร่ สุดท้ายผู้รับเหมาทิ้งงาน เหลือแต่ซากจนถึงปัจจุบัน ขณะนี้กำลังหาทางนำที่ดินมาใช้ประโยชน์

แต่ที่เลวร้ายมาก คือ การทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรในระดับนโยบาย

การทุจริตแบบนี้ ไม่เกี่ยวว่าบ้านสร้างเสร็จหรือไม่ หลังคารั่วหรือเปล่า แต่เป็นการแอบแฝงหากินโดยใช้โครงการที่อ้างช่วยเหลือคนยากจนบังหน้า มีอุทาหรณ์แล้วในกรณีทุจริตสินบนบ้านเอื้ออาทร ระดับรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ และนักธุรกิจที่สัมพันธ์แนบแน่นกับทักษิณ ถูกศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 50 ปี

3. คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีทุจริตสินบนบ้านเอื้ออาทร ลงโทษ
จำคุกนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมัยรัฐบาลทักษิณ
รวม 99 ปี แต่ตามกฎหมายจำคุกได้สูงสุด 50 ปี

ขณะนี้ คดียังไม่ถึงที่สุด นายวัฒนาได้ประกันตัวออกมาต่อสู้คดีต่อ รอคำพิพากษาชี้ขาดสุดท้าย

ขณะเดียวกัน เสี่ยเปี๋ยง คนเดียวกับที่ติดคุกคดีทุจริตระบายข้าวจีทูจีเก๊ ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขณะนี้ยังอยู่ในเรือนจำ
ก็โดนพิพากษาลงโทษจำคุกในคดีนี้อีก 50 ปี

สินบนบ้านเอื้ออาทร เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณช่วงปี 2548

ทุจริตระบายข้าวจีทูเจี๊ยะ เกิดขึ้นสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ช่วงปี 2555-2556

เสี่ยเปี๋ยง คือ เจ้าของบริษัทเพรสซิเด้นท์ อะกริฯ ที่เข้าไปประมูลข้าวจากโครงการจำนำข้าวยุคทักษิณ เป็นลอตใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และต่อมา เสี่ยเปี๋ยงก็คือเจ้าของสยามอินดิก้าที่เข้าไปร่วมทุจริตข้าวจีทูเจี๊ยะ ยุคยิ่งลักษณ์

พูดง่ายๆ ว่า เสี่ยเปี๋ยงมีบทบาทในการวิ่งเต้นหากินตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณแล้ว โดยเสี่ยเปี๋ยงเคยให้สัมภาษณ์เปิดเผยไว้เองว่า ตนรู้จักกับนายวัฒนา เมืองสุข ผ่านการแนะนำของนายทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่สมัยที่นายวัฒนาเป็นรองเลขาธิการนายกฯ ก่อนที่นายวัฒนาจะได้เป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ และต่อมาค่อยโยกมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯในภายหลัง

คำพิพากษาคดีทุจริตสินบนบ้านเอื้ออาทร ตอกย้ำบทบาทและความเกี่ยวพันกับนักการเมืองระบอบทักษิณ

ศาลฎีกาฯ วินิจฉัยชี้ชัดว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่ามีขบวนการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการตามฟ้อง มีการดำเนินการลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำเป็นขบวนการ
อย่างมีระบบอันเป็นความผิดตามฟ้อง เกิดขึ้นจริง

เสี่ยเปี๋ยง เป็นตัวกลางที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในขบวนการของกลุ่มในการเรียกเงินจากผู้ประกอบการรายใหญ่ เรียกว่า ค่าที่ปรึกษา เป็นเพียงการให้เงินดังกล่าวนำไปลงบัญชีได้

เสี่ยเปี๋ยงอ้างอำนาจในตำแหน่งของรัฐมนตรี พม. โดยติดต่อในลักษณะข่มขืนใจ หรือจูงใจแก่ผู้ประกอบการ ที่ประสงค์เข้าดำเนินการโครงการบ้านเอื้ออาทร ให้นำเงินมามอบให้เพื่อตอบแทนการได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้าง และเข้าทำสัญญาเป็นผู้จัดทำโครงการบ้านเอื้ออาทรขายให้แก่การเคหะแห่งชาติ ตามสัดส่วนที่ได้จ่ายเงินให้

ลูกน้องเสี่ยเปี๋ยงที่เป็นจำเลยด้วย ได้รู้เห็นมาแต่ต้น และทำหน้าที่เป็นผู้โทรศัพท์ติดตามทวงถามเงินจากผู้ประกอบการรวมทั้งรับเช็คมาจากผู้ประกอบการเพื่อให้ได้เงินครบจำนวนเงินตามที่ได้ตกลงกันไว้

เสี่ยเปี๋ยงกับลูกน้อง จึงนับว่าได้ร่วมกันกระทำความผิด

ส่วนอดีตรัฐมนตรีนายวัฒนา (เสี่ยไก่) ผิด เพราะอะไร?

คำพิพากษาศาลฎีกาฯ ชี้ว่า จำเลยที่ 1 (นายวัฒนา เมืองสุข) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ
(ขณะนั้น) มีความผิดฐานร่วมข่มขืนใจหรือจูงใจแก่ผู้ประกอบการให้นำเงินมอบให้ตนเองหรือผู้อื่น เพื่อตอบแทนการที่ กคช. อนุมัติให้ได้เข้าทำสัญญา

ศาลฎีกาฯ เห็นว่า แม้นายวัฒนาอ้างว่ารัฐมนตรีมีหน้าที่กำกับงานด้านนโยบายและตนเอง เกี่ยวข้องเฉพาะการปรับปรุงประกาศฉบับใหม่ หรือ TOR ก็ตาม แต่ลักษณะการกระทำความผิดในคดีนี้เป็นไปไม่ได้ที่จำเลยที่ 4-7 (เสี่ยเปี๋ยงและลูกน้อง) ซึ่งเป็นเพียงบุคคลภายนอกจะสามารถกระทำการได้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสี่ยเปี๋ยงไม่อาจแสดงตนให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เชื่อถือได้ว่ามีฐานะเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการของนายวัฒนาได้เอง อีกทั้งเสี่ยเปี๋ยงย่อมไม่มีอำนาจผลักดันให้ผู้ประกอบการที่ตกลงจ่ายเงินได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้างทุกรายได้ดังที่เกิดขึ้นจริงในคดีนี้

นอกจากนี้ นายวัฒนาน่าจะรู้ข้อเท็จจริงที่มีการรับเงิน เพราะเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก และเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอย่างแพร่หลายในช่วงเวลานั้น ประกอบกับนายวัฒนาเข้าไปกำกับดูแลการจ่ายเงินล่วงหน้า ย่อมมีผลเป็นการเร่งรัดให้มีการจ่ายเงินล่วงหน้าอยู่ในตัว โดยพฤติการณ์บ่งชี้ว่า เป็นการเร่งรัดและเพิ่มจำนวนเงินล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ประกอบการนำเงินล่วงหน้าที่ได้รับมามอบให้แก่เสี่ยเปี๋ยง เมื่อมีการเรียกรับทรัพย์สินก็ต้องถือเป็นความผิดแล้ว การที่นายวัฒนาจะเรียกเงินจากผู้ประกอบการด้วยตนเองหรือไม่ ย่อมไม่ใช่ข้อสำคัญ

จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148

คำพิพากษาระบุว่า นายวัฒนา เสี่ยเปี๋ยงและลูกน้อง ร่วมกันกระทำความผิด 11 กรรม 11 กระทง เป็นการกระทำในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ โดยมีการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการแต่ละราย ต่างวันเวลา และต่างสถานที่แยกกันต่างหากจากกัน เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

นายวัฒนา เมืองสุข ต้องโทษกระทงละ 9 ปี เมื่อ 11 กระทง จึงเป็นโทษจำคุก 99 ปี

เสี่ยเปี๋ยง ต้องโทษกระทงละ 6 ปี เมื่อ 11 กระทง จึงเป็นโทษจำคุก 66 ปี

แต่ตามกฎหมาย สามารถลงโทษได้จริงไม่เกิน 50 ปี

นอกจากนี้ นายอริสมันต์ผิดเพราะอะไร? ศาลฎีกาฯ ชี้ว่า จำเลยที่ 10 (นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย) เคยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีคนก่อน ได้พูดยุยงส่งเสริมเพื่อช่วยในการตัดสินใจของนางชดช้อยให้เกิดความมั่นใจที่จะมอบเงินให้แก่ผู้มารับเช็คไป อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิดของขบวนการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการ แม้ผู้ร่วมกระทำผิดในขบวนการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการ จะรู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกของจำเลยที่ 10 หรือไม่ก็ตาม แต่ถือว่าจำเลยที่ 10
(นายอริสมันต์) เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามฟ้อง ลงโทษ 1 กระทง จำคุก 4 ปี

ขณะนี้ คดียังไม่ถึงที่สุด รอคำพิพากษาชี้ขาดสุดท้าย

3. ขณะนี้โครงการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยในยุคปัจจุบัน ยังไม่พบว่ามีหลักฐานเรื่องทุจริตกินสินบาทคาดสินบนอย่างยุครัฐบาลในอดีต

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า “…โครงการ“บ้านเคหะสุขประชา” เป็นการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยและยกระดับคุณภาพชีวิต สำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มเปราะบาง ข้าราชการชั้นผู้น้อย ข้าราชการเกษียณ รวมถึงช่วยแก้ปัญหาผู้บุกรุกในพื้นที่สาธารณะครับ

ปัจจุบัน โครงการบ้านเคหะสุขประชาอยู่ระหว่างดำเนินโครงการนำร่อง 2 โครงการ ได้แก่ “บ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า” และ “บ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง” ที่มีกำหนดส่งมอบบ้านจำนวน 20,000 หน่วยต่อปี

หรือ 100,000 หน่วย ภายในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2564 - 2568)

โดยเป็นส่วนหนึ่งในแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) ของรัฐบาล ที่มีเป้าหมายให้คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว (Housing for all)

ลักษณะพิเศษของโครงการ “บ้านเคหะสุขประชา” ที่ผมได้มอบนโยบายไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม คือ ให้คำนึงถึงการใช้สอยได้จริงในชีวิตประจำวัน โดยให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เป็นไปตามหลักการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) สำหรับผู้อยู่อาศัยทุกกลุ่ม ยิ่งไปกว่านั้น จะต้องเป็นโครงการสร้างบ้านและที่อยู่อาศัย ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และชุมชนอย่างครบวงจร โดยการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมการมีรายได้จากอาชีพต่างๆ เช่น ปศุสัตว์ เกษตรอินทรีย์ อาชีพบริการในชุมชน อุตสาหกรรมขนาดเล็ก หรือการค้าปลีก-ค้าส่ง และตลาดชุมชน

นอกจากนั้น ยังได้มีการนำแนวคิด BCG Economy คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาวะของผู้อยู่อาศัยควบคู่กันไป ซึ่งเรียกว่าการขับเคลื่อนแบบ Smart and Sustainable Community for Better Well-Being (SSC)

ทั้งหมดนี้ คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศชาติโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งโครงการนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญหนึ่งของรัฐบาล ที่ผมอยากให้ทุกคนร่วมรับรู้สิ่งดีๆ ที่ผมและรัฐบาลได้ผลักดันและเดินหน้าพัฒนาประเทศชาติอย่างเต็มกำลังในขณะนี้ เนื่องจากผมเชื่อว่าประเทศชาติจะขับเคลื่อนได้ สังคมจะดีได้ ทุกอย่างต้องเริ่มต้นจาก “บ้านที่ดี” โดยรัฐบาลกำลังจะส่งมอบบ้านดีๆ แบบนี้ ให้แก่ผู้ที่อาจจะไม่เคยคิดว่าจะมีบ้านได้ เพิ่มขึ้นอีกนับแสนหลัง ในไม่นานนี้ครับ…”

สันติสุข มะโรงศรี

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( คอลัมน์การเมือง - บทเรียนบ้านเอื้ออาทร - หนังสือพิมพ์แนวหน้า )
https://ift.tt/3oqGmQ5
บ้าน

Bagikan Berita Ini

0 Response to "คอลัมน์การเมือง - บทเรียนบ้านเอื้ออาทร - หนังสือพิมพ์แนวหน้า"

Post a Comment

Powered by Blogger.