Search

“ไม่ได้ซื้อแค่บ้าน แต่ซื้อสังคมด้วย” พาชม Schoonschip ชุมชนลอยน้ำ ... - The MATTER

“เหมือนฉันไม่ได้ซื้อบ้าน แต่ซื้อสังคมให้กับเด็กๆ” หนึ่งในสมาชิกชุมชนเล่าให้ฟัง ถึงหนึ่งในการตัดสินใจถูกต้องที่สุดในฐานะแม่ ระหว่างพาเราเยี่ยมชม Schoonschip ชุมชนลอยน้ำที่พยายามพึ่งพาพลังงานสะอาดแบบสุดตัว

พูดถึงอัมสเตอร์ดัมแห่งประเทศเนเธอแลนด์ คุณนึกถึงอะไร? จักรยาน ทิวลิป กังหัน  กัญชา โสเพณี… หากคุณมีโอกาสได้ไปเยือนสักครั้ง เชื่อว่าหนึ่งในภาพจำของหลายคนคงมี ‘สายน้ำ’ ปรากฏอยู่ในนั้น เพราะเหตุการณ์สงครามได้ทิ้งรอยคูคลองมากมาย รวมกันยาวนับ 100 กิโลเมตร จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนจะผูกพันกับผืนน้ำ และพยายามอยู่ร่วมและปรับตัวกับสิ่งที่มี ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

หลังมุ่งหน้าไปทางตอนเหนือของเมืองอัมสเตอร์ดัม ใช้เวลาเพียงไม่นานก็ถึง ‘Schoonschip ชุมชนลอยน้ำอัจฉริยะ’ ที่ตั้งอยู่ในคลอง Johan van Hasselt ถ้าจะให้นึกภาพตามก็แอบคล้ายกับเรือนแพเวอร์ชั่นบ้านฝรั่ง และอัดแน่นไปด้วยการออกแบบให้เป็นชุมชนที่พึ่งพาพลังงานหมุนเวียน

อะไรสามารถทำให้ย่านที่เคยขึ้นชื่อว่าอาจได้รับผลกระทบจากพื้นที่อุตสาหกรรมใกล้เคียง กลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืนได้ เราจะลองพาทุกคนไปสำรวจกัน 

กว่าจะมาเป็น Schoonschip

บ้านเพียงไม่กี่หลังที่เรียงรายอยู่บนผิวน้ำ แถมยังตั้งอยู่ตรงทำเลที่หันเผชิญหน้ากับตึกอพาร์ทเมนต์ใหม่เอี่ยมอ่อง จะสามารถตอบโจทย์ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้จริงตามคำโฆษณาชวนเชื่อจริงหรือ นับเป็นข้อสงสัยแรกๆ เมื่อเราก้าวเท้าถึงที่นั่น

เล่าก่อนว่า ชุมชนแห่งนี้ตั้งต้นมาจากความตั้งใจของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เพียงแค่อยากมีบ้านที่อยู่ใกล้กับเพื่อนฝูง และต้องไม่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมไปด้วย จึงเริ่มรวมตัวกันเพื่อมองหาทำเลดีๆ สร้างฝันให้สำเร็จ ซึ่งในช่วงเวลานั้นเทศบาลของเมืองเองก็มีความสนใจที่จะพัฒนาที่อยู่อาศัยด้วยโจทย์ที่คล้ายคลึงกัน จึงเปิดโอกาสให้มีการยืนแบบโครงการนำร่อง ทาง Space&Matter องค์กรสถาปนิกที่เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมแบบยั่งยืน ก็ไม่ปล่อยให้โอกาสนี้หลุดลอย พวกเขาเริ่มรวบรวมผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา มารับฟังความต้องการของกลุ่มผู้อาศัย จนออกมาเป็นบ้านจำนวน 30 ยูนิต ที่แต่ละยูนิตอาศัยได้ 2 ครอบครัว

cr. schoonschipamsterdam

แต่เอ๊ะ บ้านแต่ละหลังหน้าตาไม่เหมือนกันเลย ไม่เหมือนเวลาสร้างบ้านจัดสรรที่เราคุ้นตา นี่แหละเป็นความตั้งใจแต่ต้นที่สมาชิกในชุมชนจะร่วมออกแบบกับสถาปนิกที่เลือกไว้ เพื่อใส่ความชอบได้อย่างเต็มที่ ทั้งรูปแบบไปจนถึงวัสดุที่ใช้ ถึงได้ออกมาเป็นบ้านแต่ละหลังถึงได้มีเล่าเรื่องราวเฉพาะตัว

แถมแต่ละหลังก็คลอดมาจากต่างเมือง ไปจนถึงต่างประเทศเลย เพราะทุกหลังจะถูกสร้างจนเสร็จ ก่อนจะถูกลากจูงมาที่นี่ เพื่อจะได้ไม่เกิดเสียงรบกวนเพื่อนบ้าน จนถึงตอนนี้จึงมีผู้อยู่อาศัยรวม 46 ครอบครัว จำนวน 144 คน

ความยั่งยืนด้านพลังงานของชุมชน

ก่อนที่เราจะได้เห็นระบบพลังงานที่หล่อเลี้ยงชุมชนแห่งนี้ ขอเล่าเรื่องราวติดตลกอย่างหนึ่งว่าในช่วงเวลาที่เรากำลังทักทายคนในชุมชนที่จะพาเราชมหมู่บ้าน ก็ดันมีฝนและหิมะตกลงมาเล็กน้อย กลุ่มของเราราวไม่ถึง 20 คน จึงได้อาศัยชานบ้านหลังหนึ่งหลบชั่วคราว

เพียงเวลาสั้นๆ ก็มีเสียงกระซิบต่อกันจนกลายเป็นตะโกนให้ถอยออกมา เพราะบ้านหลังนั้นเอนไปตามน้ำหนักคนอย่างชัดเจน เราจึงได้รับคำยืนยันโดยไม่ได้ตั้งใจอย่างหนึ่งว่า ที่นี่เป็นหมู่บ้านลอยน้ำจริงๆ

เรื่องราวแรกๆ ที่ผู้อาศัยเล่าออกมาอย่างภาคภูมิใจ คือการที่พวกเขาจัดการระบบพลังงาน ผ่านระบบไฟฟ้า smart – grid ทำให้สามารถใช้ไฟฟ้าทุกยูนิตได้อย่างคุ้มค่าที่สุด โดยมีจุดตั้งต้นจากแผงโซลาร์เซลล์ที่มีมากถึง 516 แผง

“เราแทบไม่ได้ซื้อไฟฟ้าเลย ถ้ามีบ้านไหนไปพักร้อนวันหยุด ไฟที่พวกเขาผลิตก็ยังแบ่งไปยังบ้านข้างเคียง” 

ผู้อาศัยรายหนึ่งอธิบายถึงการพึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์ของชุมชน โดยเฉพาะการที่บ้านแต่ละหลังไม่มีระบบฮีตเตอร์ แล้วอยู่กันไปได้ยังไงหนาวเบอร์นี้? พวกเขาไม่ปล่อยให้เราสงสัยนาน ด้วยการเล่าว่า ใต้คลองซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนได้มีการวางระบบทำความร้อนเอาไว้ ซึ่งใช้วิธีการดึงน้ำจากคลองหมุนผ่านตัวเก็บพลังงาน ทำให้อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนแปลงไปตามต้องการ จนสามารถปั๊มความร้อนเพื่อให้ความอบอุ่นแก่แต่ละครอบครัว

cr. schoonschipamsterdam

เลี้ยวซ้ายแลขวาต่อไปตามทางเดิน จะพบกับพื้นที่ส่วนกลางที่คนในชุมชนใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน ที่พลาดไม่ได้ช่วงฤดูร้อนนั่นคือการว่ายน้ำ เราถึงได้เห็นบันไดที่ทำให้สามารถขึ้นลงได้สะดวกกระจายอยู่ทั่ว แต่เห็นอย่างนี้ช่วงแรกพวกเขาเกือบไม่ได้กระโดดน้ำเล่นมาแล้ว

“เจ้าหน้าที่มีกฏห้ามเราลงเล่นน้ำ เพราะตรงนี้อยู่ใกล้เขตทิ้งสารเคมีอันตราย เขาเลยกลัวว่าพื้นดินตรงนี้จะได้รับผลกระทบจนน้ำมีการปนเปื้อน เราสู้อยู่นาน ถึงกับต้องยกเหตุผลว่าเราอยู่กับน้ำขนาดนี้ ถ้าคนตกลงไปจะทำยังไง นั่นแหละรัฐจะยอมมาตรวจคุณภาพ และผลก็ออกมาดีเกินคาด” 

จะว่านั่นเป็นจุดปลดล็อกให้ชุมชนใช้ประโยชน์จากน้ำได้อย่างอิสระโดยเฉพาะสำหรับระบบน้ำประปา ที่จะใช้ทั้งน้ำฝนจากหลังคาและน้ำจากคลองมาใช้ประโยชน์ แถมหากตอนไหนจะใช้น้ำอุ่นก็ไม่ต้องกังวล แถมระบบฝักบัวยังสามารถนำความร้อนกลับมาใช้ใหม่ได้อีก

ถัดจากบ้านออกมาอีกหน่อยเราจะสะดุดตากับท่าเรือ เราดูเผินๆ ก็เป็นท่าธรรมดาทั่วไป แต่สมาชิกชุมชนซึ่งทำหน้าที่ไกด์ชั่วคราวให้เราในวันนั้น ก็รีบอวดใหญ่โตว่านี่เป็นท่าเรืออัจฉริยะเชียวนะ ด้วยการออกแบบให้มีระบบรับน้ำเสียจากภายในบ้านอยู่ข้างใต้ เพื่อส่งไปบำบัดและแปรรูปเป็นก๊าซชีวภาพกลับมาใช้ใหม่

เวลาคิดถึงบ้านริมน้ำในบ้านเรา อดไม่ได้ที่จะนึกถึงกลิ่นเฉพาะตัวที่เกิดจากระบบจัดการน้ำ ซึ่งที่นี่คุณจะไม่ได้สัมผัสกับสิ่งนั้นเลย เพราะชุมชนแยกธารน้ำออกเป็น 2 ส่วน คือ น้ำสีเทา จำพวกน้ำซักผ้า น้ำที่อาบ อีกส่วนคือน้ำสีดำ อย่างน้ำจากชักโครก ซึ่งกำลังมีแผนในอนาคตที่จะทำระบบบ่อหมักเพื่อแปรสภาพเป็นพลังงานกลับสู่ชุมชน

ว่าแต่ พวกเขาเดินทางกันยังไงละ? คนในชุมชนล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ได้มีความจำเป็นที่ต้องมีรถยนต์ส่วนตัว แถมค่าเช่าที่จอดรถก็แพงมหาโหด ที่นี่เลยใช้ระบบแชร์รถ โดยสามารถลงทะเบียนจองออนไลน์ไว้ล่วงหน้า ซึ่งระบบนี้ยังมีจักรยานทั่วไปและไฟฟ้าไว้ให้เลือกใช้งาน

เมื่อเราเดินวนจนครบทั้งชุมชน พร้อมฟังคำอธิบายมาตลอดเส้นทาง จึงไม่น่าแปลกใจเลย ว่าทำไมถึงต้องใช้เวลากว่า 14 ปี  ถึงจะได้เริ่มต้นสร้างบ้านหลังแรกขึ้นมาได้

คงไม่มีอะไรดีไปกว่ามีเพื่อนบ้านคอเดียวกัน

มาถึงตอนนี้หลายคนอาจจะเริ่มจินตนาการ ว่าจะมีโอกาสสักครั้งในชีวิตที่จะได้ลองอาศัยอยู่ที่นั่นไหม คงต้องบอกว่าเป็นไปได้ และเป็นไปได้ยากในเวลาเดียวกัน ที่บอกว่าไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะว่าที่นี่ไม่ได้ต่างกับชุมชนอื่นๆ ที่สามารถซื้อขายกันได้ตามปกติ เฉลี่ยอยู่ราว 20-30 ล้านบาท หากเทียบกับค่าเช่าที่ดินของอัมสเตอร์ดัมที่แพงหูฉี่ ก็แอบเป็นราคาที่น่าสนใจไม่น้อย 

แต่นั่นแหละ ประโยคว่าของดีมีจำกัดไม่ใช่เรื่องเกินจริงสำหรับชุมชนแห่งนี้ เพราะใช่ว่าใครจะย้ายมาก็ได้เลย ทุกครอบครัวต้องผ่านการส่งจดหมายออดิชั่นไม่ต่างกับกับการสอบเรียนต่อเลย 

‘คุณทำงานอะไร มีเงินเดือนเพียงพอที่จะสนับสนุนกิจกรรมของชุมชนไหม มีแผนจะทำอะไรคืนกลับสู่สังคมบ้าง’ นี่เป็นตัวอย่างคำถามในการคัดเลือก ที่ถึงอาจจะดูยุ่งยากสักหน่อย แต่ช่วงตั้งชุมชนใหม่ๆ มีผู้คนที่สนใจเข้าอยู่กว่า 2,000 คนทีเดียว

“ไม่เคยมีปัญหาทะเลาะกับเพื่อนบ้านเลย ฉันเชื่อว่าเราเป็นคนที่รักในสิ่งเดียวกัน” ตามนิสัยคนไทยแท้ อดไม่ได้ที่เราจะสงสัย ว่าการที่ชุมชนมีกฎเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจสร้างความไม่สะดวกสบาย จะทำให้เกิดปัญหากับเพื่อนบ้านไหมนะ ซึ่งคำตอบที่เราได้รับก็เป็นอย่างที่เห็น

“ทุกวันนี้ลูกๆ ต่างหากที่เป็นฝ่ายคอยบ่นแม่อย่างฉัน ให้คอยแยกขยะและสนใจสิ่งแวดล้อม พวกเขาโตมาด้วยชุดความคิดนี้ ฉันมีความสุขมาก”

น่าเสียได้ ที่เราไม่ได้ไปเยี่ยมชมในช่วงที่เด็กๆ เลิกเรียน แถมเป็นช่วงอากาศหนาวแทบจะติดลบ จนยากที่จะทำกิจกรรมกลางแจ้ง จึงอดเห็นความคึกคักของบรรยากาศปิกนิกในพื้นที่ส่วนกลาง รวมถึงกิจกรรมทางน้ำต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยม

คงไม่มีใครสามารถบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้ดีเท่าผู้อยู่อาศัยจริง นั่นถึงทำให้ชุมชนแห่งนี้จัดระบบต้อนรับผู้มาเยี่ยมชมแบบต้องจองไว้ล่วงหน้า เพราะต้องอย่าลืมว่าที่นี่เป็นบ้านที่อยู่อยู่จริง คงไม่สนุกถ้าใครจะเดินเข้าเดินออกโดยที่พวกเขาไม่รู้มาก่อน โดยค่าบริการแบบกลุ่มทัวร์ก็จะตกที่ 250 ยูโร หรือราว 9,300 บาท สำหรับ 15 คน ซึ่งรายได้ส่วนนี้ก็จะถูกใช้ดูแลพื้นที่ส่วนกลาง โดยเฉพาะท่าเทียบเรือ

สิ่งหนึ่งที่ช่วยยืนยันความตั้งใจของผู้ออกแบบ รวมถึงผู้อาศัยในชุมชน ที่อยากให้สังคมเปลี่ยนไปในทางที่ดี คือการเปิดพิมพ์เขียวให้ดูในรูปแบบ Open source แบบไม่มีกั๊ก และหากใครสนใจแนวคิดของหมู่บ้าน Schoonschip ก็สามารถติดตามได้ที่นี่

การเยี่ยมชมชุมชน Schoonschip ครั้งนี้ไม่เพียงเปิดประสบการณ์ให้เห็นชุมชนในโลกอนาคต ที่ต้องปรับตัวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยยืนยันว่าต่อให้สร้างบ้านได้แข็งแรงแค่ไหน คงไม่อาจอยู่ยั่งยืนได้ ถ้าไม่สามารถสร้างชุมชมที่มีเป้าหมายเดียวกัน

Photographer: Smitanan Youngstar
Graphic Designer: Manita Boonyong
 Proofreader:  Jiratchaya Chaichumkhun
You might also like


Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( “ไม่ได้ซื้อแค่บ้าน แต่ซื้อสังคมด้วย” พาชม Schoonschip ชุมชนลอยน้ำ ... - The MATTER )
https://ift.tt/sI04egV
บ้านอัจฉริยะ

Bagikan Berita Ini

0 Response to "“ไม่ได้ซื้อแค่บ้าน แต่ซื้อสังคมด้วย” พาชม Schoonschip ชุมชนลอยน้ำ ... - The MATTER"

Post a Comment

Powered by Blogger.